คุณอยู่ที่

  • บทความ
  • ผลิตภัณฑ์ธนาคาร
  • ช่องทางบริการธนาคาร
  • เกี่ยวกับเรา
  • บริการช่วยเหลือ
  • ลิงก์ด่วน
ผลิตภัณฑ์ธนาคาร
เกี่ยวกับเรา
Financial Guru
Business Maker
Lifestyle Tips
ลงทุน
บริการโอนเงินระหว่างประเทศ
CIMB THAI App
ข่าวและกิจกรรม

Office Syndrome อาการเมื่อยล้าของร่างกายที่คุกคามวัยทำงานอย่างหนักหน่วง ใครที่นั่งทำงานออฟฟิศนาน ๆ ต้องเคยสัมผัสสักครั้ง อาการเมื่อยไหล่ ปวดหลัง ตาล้า หัวสมองเซื่องซึม อาการเหล่านี้เกิดจากอะไร สามารถแก้ไขได้อย่างไรได้บ้าง แนวทางการป้องกันเป็นอย่างไร CIMB Thai เอามาเล่าให้ฟังในบทความนี้

Office Syndrome คือ?

Office Syndrome คืออาการที่พบบ่อยที่สุดในวัยทำงาน หรือพนักงานออฟฟิศที่ทำงานติดที่ ต้องนั่งเก้าอี้หรือนั่งโต๊ะนาน ๆ ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำ ๆ ติดกันเป็นเวลานานเป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด หรือทางการแพทย์เรียกว่า Myofascial Pain Syndrome รวมถึงอาการปวดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็นด้วย ในบางรายมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย 

 

Office Syndrome มีสาเหตุจากอะไร?

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าออฟฟิศซินโดรมเกิดขึ้นจากการทำอิริยาบถซ้ำ ๆ กัน เป็นเวลานาน จนทำให้ร่างกายผิดปกติ เช่น ท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกต้อง นั่งหลังงอ การบาดเจ็บจากงานซ้ำ ๆ หรือมีระยะเวลาในการทำงานมากเกินไป ทำให้ร่างกายอ่อนล้าจนรับไม่ไหว เช่น จับโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ต้องแชตคุยงานเป็นประจำ การใช้ข้อมือในการพิมพ์คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ จับเมาส์เป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการเอ็นอักเสบได้ หรือสาเหตุสุดท้ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทำงาน เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ หรือแสงสว่างในขณะทำงานไม่เพียงพอ 

 

นอกจากนี้สาเหตุอื่นๆของ Office Syndrome ยังเกิดมาจากร่างกายที่อ่อนล้า อ่อนเพลีย ของร่างกายที่เกิดจากการทำงาน ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ร่างกายรับสารอาหารไม่ครบถ้วนอีกด้วย

อาการของ Office Syndrome

Office Syndrome มีอาการแสดงออกมามากมาย ถึงจะเป็นโรคที่พบได้เป็นประจำ และเป็น ๆ หาย ๆ แต่ก็ไม่ควรปล่อยอาการเหล่านี้ให้เป็นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะอาจทำให้เกิดโรคที่อันตรายมากขึ้นได้ เช่น เสี่ยงต่อโรคกระดูกทับเส้น กระดูกสันหลังคด แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น และอาการของโรค Office Syndrome ที่เห็นได้บ่อย ๆ นั้น มีดังนี้

 

ปวดหลัง

อาการปวดหลังเป็นอาการ Office Syndrome ที่พบบ่อยมากที่สุด เกิดจากท่านั่งหรือท่ายืนไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน หรือมีการใช้กล้ามเนื้อที่รุนแรงเกินไป จนทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่บริเวณหลัง 

 

ปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด

อาการนี้เป็นกลุ่มอาการยอดฮิตของโรค Office Syndrome อาการเริ่มแรกจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณ คอ บ่า ไหล่ สะบัก สะโพก อาการเหล่านี้มักเป็นอาการเรื้อรังที่ไม่หายขาด 

 

ปวดศีรษะ

เมื่อมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อแล้ว อาการต่อมาที่มักจะพบคือ อาการปวดศีรษะ เพราะเป็นการลุกลามของปัญหากล้ามเนื้อบริเวณที่ตึง ทำให้เลือดที่ไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนศีรษะไม่เสถียร หรือบางครั้งอาจเกิดจากอาการปวดตาหรือตาแห้ง บางครั้งมีอาการรุนแรงจนเป็นการปวดหัวไมเกรนได้

เส้นประสาทที่มือถูกกดทับ

อาการนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นที่มือโดยเฉพาะ โดยที่จะเกิดพังผืดบริเวณข้อมือด้านฝ่ามือ เกิดอาการกดทับ ปวดชาที่นิ้วมือ มือ และลามไปถึงแขน ทำให้ทำงานไม่สะดวก และเกิดอาการเมื่อยล้ากล้ามเนื้อร่วมด้วย

 

นิ้วล็อก

นิ้วล็อกเป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อยมากสำหรับคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือบ่อย ใช้นิ้วมือในการพิมพ์คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์บ่อย ทำให้เกิดการเสียดสีทำให้บริเวณปลอกหุ้มเอ็นอักเสบได้ หรือเอ็นของนิ้วเจ็บจนเกิดอาการแข็งเกร็ง 

 

เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบเป็นอาการที่มักเกิดบริเวณ หัวไหล่ ข้อศอก ข้อเท้า เข่า และข้อมือ อาจจะเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง การใช้งานหนัก การใช้งานที่บ่อยครั้งซ้ำซาก ทำให้รู้สึกปวดบริเวณกล้ามเนื้อเหล่านั้น

 

ปวดตาหรือตาแห้ง

อาการตาแห้งเกิดจากการใช้ดวงตาในการเพ่งเล็ง หรือการใช้สายตาติดต่อกันนานเกินไป จนทำให้ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการพร่ามัว และปล่อยไว้นาน ๆ เข้า  อาจจะทำให้มีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย

วิธีการรักษาโรค Office Syndrome เบื้องต้นด้วยตนเอง

การรักษาโรค Office Syndrome เบื้องต้นที่ชาวออฟฟิศทำได้นั้น คือการปรับเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงาน อย่านั่งทำงานนานเกินไป ควรแบ่งเวลาพักเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายบ้าง และยังมีท่าบริหารพื้นฐานต่าง ๆ ให้ได้ทำเป็นระยะ เพื่อลดอาการ Office Syndrome ไม่ให้เป็นเรื้อรังไปมากกว่าเดิมนั้นเอง

วิธีการรักษาโรค Office Syndrome จากแพทย์มีขั้นตอนอย่างไร?

ในการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมด้วยแพทย์นั้นมีหลายวิธี แต่ละวิธีต้องอาศัยเวลาและความสม่ำเสมอในการรักษา สำหรับวิธีรักษานั้น มีขั้นตอนดังนี้

 

● แพทย์จ่ายยาเพื่อคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้อักเสบ หรือยาคลายเครียด เพื่อรักษาอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง และสะโพกได้ 

● นัดทำกายภาพบำบัดภายใต้การดูแลของแพทย์

● รักษาด้วยเวชศาสตร์ทางเลือก เช่นการนวดแผนไทย การฝังเข็ม

● รักษาด้วยเทคโนโลยีจัดกระดูกสันหลัง หรือเรียกอีกชื่อว่า Chiropractic

● รักษาด้วยคลื่นกระแทกหรือ Shockwave Therapy

วิธีป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจาก โรค Office Syndrome

แน่นอนโรคออฟฟิศซินโดรมสำหรับคนวัยทำงานนั้น ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ยังสามารถป้องกันไม่ให้โรคนี้เกิดความรุนแรงหรือเรื้อรังได้ ด้วยการปรับพฤติกรรมในการทำงานของคุณ Office Syndrome ป้องกันได้โดย

 

● ปรับอิริยาบถในการนั่งทำงานให้เหมาะสม ไม่นั่งห่อไหล่หรือหลังค่อม

● จัดท่าทางให้ถูกต้องก่อนการยกของหนัก

● ไม่นั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรแบ่งช่วงเวลาไว้หยุดพัก บริหารบ้าง

● ปรับตำแหน่งความคอมพิวเตอร์ โต๊ะทำงาน เก้าอี้ ให้เหมาะสม

● หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าที่มีความสูงเกิน 2 นิ้วเป็นเวลานาน

● ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

Office Syndrome เกิดขึ้นกับวัยอื่นนอกจากวัยทำงานได้ไหม?

สำหรับช่วงวัยที่มีโอกาสเป็นโรค Office Syndrome นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่วัยทำงาน ใครก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่คนที่ทำงานออฟฟิศ กรณีของผู้ใช้แรงงานเป็นประจำ นักกีฬาที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหรือกระดูกเคลื่อนไหว การกระชากกล้ามเนื้อเร็วเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมได้ ผู้ใช้แรงงานที่ต้องยกของตลอดเวลา ต้องแบกของหนัก หากทำด้วยท่าที่ไม่เหมาะสมก็ทำให้เกิดอาการของโรคได้เช่นกัน

Office Syndrome คืออาการเหนื่อยล้า เหน็ดเหนื่อยของร่างกาย ที่เกิดจากการใช้งานหนักเกินไป อยู่ท่าเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ๆ อาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่อาการปวดหลัง ปวดคอ บ่า ไหล่ ลามไปถึงการปวดศีรษะ หากปล่อยไว้นานเกินไปอาจจะเป็นสาเหตุของโรคที่อันตรายมากขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรป้องกันโดยการเปลี่ยนอิริยาบถในการนั่งทำงาน แบ่งเวลาให้ร่างกายได้พักบ้างระหว่างวัน จัดสภาพแวดล้อมที่ทำงานให้เหมาะสมเพื่อเป็นการป้องกันอาการ Office Syndrome ได้ผลยั่งยืนในระยะยาว

 

 

 

 

Ref.

Praram9.com

Samitivejchinatown.com

Princsuvarnabhumi.com


คุณอาจสนใจ