เงินเดือนเท่าไหร่เสียภาษี
เป็นคำถามยอดฮิตของเหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหน้าเก่า และบรรดา First Jobber ว่าเงินเดือนเราเท่านี้ ต้องเสียภาษีไหม เสียเท่าไหร่ เนื่องจากแต่ละบุคคลต่างก็มีรายได้ที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็มีรายได้แค่เฉพาะเงินเดือนอย่างเดียว บ้างก็มีรายได้หลายทาง เพราะฉะนั้นรายรับที่แต่ละคนได้ต่อเดือน จะเป็นตัวกำหนดการคำนวณภาษี โดยมีสูตรการคำนวณคร่าว ๆ ก็คือ "รายได้ตลอดทั้งปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน จะออกมาเป็น รายได้สุทธิ"
ซึ่งรายได้ตลอดทั้งปีจะมาจากเงินเดือนในแต่ละเดือนที่นายจ้างมีการจ่ายเป็นค่าจ้าง ลบด้วยค่าใช้จ่ายของรายได้จากงานประจำ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ลบด้วยลดหย่อนส่วนตัว คนละ 60,000 บาท ซึ่งเราสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้จาก ค่าลดหย่อนส่วนตัว หรือจะเป็น การลงทุนในกองทุนรวม การซื้อประกันชีวิต แคมเปญจากภาครัฐ เช่น ช็อปดีมีคืน เป็นต้นจะได้เป็น เงินได้สุทธิ โดยผู้ที่มีรายได้สุทธิคำนวณทั้งปีไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี และถ้าหากรวมแล้วเกิน 150,000 บาท จะต้องเสียภาษีอัตราตามขั้นบันได 5 - 35%
สำหรับใครที่มีรายได้จากงานประจำเพียงทางเดียว คนที่มีฐานเงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี ส่วนผู้ที่มีเงินเดือนไม่เกิน 26,583 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าหากเงินเดือนเกิน 26,583 บาทเป็นต้นไปนอกจากจะต้องยื่นภาษีแล้วต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งอัตราภาษีจะแบ่งตามช่วงรายได้ดังนี้
- รายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี
- รายได้สุทธิตั้งแต่ 150,001 บาท - 300,000 บาท อัตราภาษีจะอยู่ที่ 5%
- รายได้สุทธิตั้งแต่ 300,001 บาท - 500,000 บาท อัตราภาษีจะอยู่ที่ 10%
- รายได้สุทธิตั้งแต่ 500,001 บาท - 750,000 บาท อัตราภาษีจะอยู่ที่ 15%
- รายได้สุทธิตั้งแต่ 750,001 บาท - 1,000,000 บาท อัตราภาษีจะอยู่ที่ 20%
- รายได้สุทธิตั้งแต่ 1,000,001 บาท - 2,000,000 บาท อัตราภาษีจะอยู่ที่ 25%
- รายได้สุทธิตั้งแต่ 2,000,001 บาท - 5,000,000 บาท อัตราภาษีจะอยู่ที่ 30%
- รายได้สุทธิตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษีจะอยู่ที่ 35%
วางแผนลดหย่อนภาษีอย่างไรดีให้มีเงินใช้
ย้ำอีกทีว่า การยื่นภาษี เป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีรายได้ แม้รายได้สุทธิประจำปีจะยังไม่เกณฑ์ก็ตาม และเพื่อสิทธิประโยชน์ของตัวเราเอง การลดหย่อนภาษี ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยดี ๆ ที่นอกจากจะช่วยให้เราได้รับเงินคืนในแต่ละปีแล้ว ยังจะช่วยให้เราวางแผนการเงินได้อย่างมั่นคงในทุก ๆ ปี อีกด้วยนะ โดยเราสามารถวางแผนลดหย่อนภาษีได้จาก 4 หมวด ดังต่อไปนี้
หมวดส่วนตัวและครอบครัว
ในหมวดนี้สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท แบ่งเป็น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ซึ่งเป็นค่าลดหย่อนภาษีที่เกิดจากตัวเองและคนในครอบครัว ค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าลดหย่อนบุตร ค่าฝากครรภ์และทำคลอด เป็นต้น
หมวดประกันและการลงทุน
- ประกันชีวิต เฉพาะกรมธรรม์ที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- SSF (Super Saving Funds) สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
- RMF (Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
หมวดเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป สามารถวางแผนลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา เงินบริจาคภาครัฐ โรงพยาบาล สามารถวางแผนลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่เราบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน
หมวดกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในแต่ละปี ภาครัฐจะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างล่าสุดก็คือโครงการ ช้อปดีมีคืน ที่นอกจากจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายแล้วเรายังสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 40,000 บาท เป็นต้น