ตราสารหนี้มีอะไรบ้าง?
ตราสารหนี้จะแบ่งออกเป็น ตราสารหนี้ภาครัฐ ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผลตอบแทนจะไม่สูงเมื่อเทียบกับ ตราสารหนี้ภาคเอกชน เช่น ตั๋วแลกเงิน, หุ้นกู้ ที่จะให้ผลตอบแทนที่สูง และมีอายุการลงทุนมีให้เลือกที่หลากหลายกว่า และนี่คือบางส่วนของตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐและเอกชน
1. พันธบัตรรัฐบาล
เป็นตราสารหนี้ระยะยาว มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไประดมทุนไปใช้บริหารประเทศ ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
2. พันธบัตรออมทรัพย์
เป็นอีกหนึ่งตราสารหนี้ภาครัฐที่เป็นทางเลือกของการลงทุน ซึ่งจะจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปและองค์กรไม่แสวงหากำไรในสังกัดของรัฐบาล
3. พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีวัตถุประสงค์ใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยพันธบัตร ธปท. มีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่อายุต่ำกว่า 1 ปี ไล่มาตั้งแต่ 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน ซึ่งจะไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ถัดมาที่ พันธบัตรอายุเกินกว่า 1 ปี จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด งวดละเท่า ๆ กัน ตามอัตราดอกเบี้ย ที่ ธปท. กำหนด
4. ตั๋วแลกเงิน
เป็นตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกโดยบริษัทเอกชนมีความเสี่ยงต่ำ ใช้ลงทุน หรือพักเงินเพื่อรอนำไปใช้ในอนาคตได้
5. หุ้นกู้
เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชนเพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่าง ๆ ของบริษัท กล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ บริษัทที่ออกหุ้นกู้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินเราไปลงทุน ซึ่งแน่นอนว่าเราจะอยู่ในสถานะ เจ้าหนี้ ในขณะที่บริษัทจะกลายเป็น ลูกหนี้ โดยเราในฐานะ "เจ้าหนี้" จะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยจากการยืมเงิน และเมื่อครบอายุสัญญาก็จะจ่ายเงินต้นคืน สำหรับอายุของหุ้นกู้จะมีตั้งแต่ 3 ปี 5 ปี 7 ปี ไปจนถึง 10 ปี ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่นิยมซื้อหุ้นกู้ไว้เนื่องจากเราจะได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยนั่นเอง