คุณอยู่ที่

  • บทความ
  • ผลิตภัณฑ์ธนาคาร
  • ช่องทางบริการธนาคาร
  • เกี่ยวกับเรา
  • บริการช่วยเหลือ
  • ลิงก์ด่วน
ผลิตภัณฑ์ธนาคาร
เกี่ยวกับเรา
Financial Guru
Business Maker
Lifestyle Tips
ลงทุน
บริการโอนเงินระหว่างประเทศ
CIMB THAI App
ข่าวและกิจกรรม

 

ฤดูกาลยื่นภาษี is coming ถือเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ที่มีรายได้เลยนะ ซึ่งเดี๋ยวนี้เราสามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ทั้งง่าย และ สะดวก แต่สำหรับใครก็ตามที่เป็น First Jobber ก็อาจจะมีข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการยื่นภาษีครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็น การยื่นภาษีใช้เอกสารอะไรบ้าง แล้วถ้าเงินเดือนไม่ถึง ต้องยื่นภาษีไหม ขั้นตอนยุ่งยากหรือเปล่า บทความนี้จะมาแนะนำวิธียื่นภาษีสำหรับมือใหม่

 

ยื่นภาษีใช้เอกสารอะไรบ้าง

ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ข้าราชการ หรือ ฟรีแลนซ์ การเตรียมเอกสารในการใช้ยื่นภาษีบุคคลธรรมดาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของรายได้ รวมถึงเอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นภาษี ก็แตกต่างกันอีกด้วย สำหรับมือใหม่เพิ่งยื่นภาษีครั้งแรก ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง

 

1. การยื่นภาษีเงินได้จากเงินเดือน (ภ.ง.ด. 91)

สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะมี 2 แบบด้วยกัน นั่นก็คือ

 

  • ภ.ง.ด.90 สำหรับผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น เงินปันผล หรือการค้าขายแบบบุคคลธรรมดา
  • ภ.ง.ด. 91 สำหรับผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ไม่มีรายได้เสริม เช่น พนักงานบริษัท

 

โดยเอกสารที่ต้องเตรียมมีดังนี้

 

1.1 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)

เป็นเอกสารที่แสดงจำนวนเงินที่นายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินเดือนของพนักงาน โดยหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) สามารถใช้ยื่นภาษีได้ทั้งแบบกระดาษและแบบออนไลน์

 

1.2 เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี

อาทิเช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนบิดามารดา ค่าลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าลดหย่อนอื่นๆ เช่น ค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าบริจาค เป็นต้น

 

 

2. การยื่นภาษีเงินได้สำหรับฟรีแลนซ์ (ภ.ง.ด. 90)

สำหรับผู้ที่มีรายได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ เช่น นักเขียน นักแปล นักออกแบบ ฯลฯ จะต้องยื่นภาษีด้วยแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 โดยเอกสารที่ต้องเตรียมมีดังนี้

 

2.1 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) จากผู้ว่าจ้าง

สำหรับใครก็ตามที่เป็นพนักงานฟรีแลนซ์ที่เงินค่าจ้างเกิน 1,000 บาท ขึ้นไป อย่าลืมขอหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จากนายจ้างได้ กรณีที่ค่าจ้างต่ำกว่า 1,000 บาท อาจจะเก็บหลักฐานเป็นสลิปการโอนเงิน เนื่องจากจะต้องนำมาคิดรวมเป็นเงินได้พึงประเมิน สำหรับใช้คำนวณเงินได้สุทธิ โดยสูตรการคิดเงินได้สุทธิมาจาก เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน

 

2.2 เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี

ฟรีแลนซ์ สามารถลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการ โดยใช้ใบกำกับภาษีที่ได้จากร้านค้านำมาเป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี, ลดหย่อนภาษีจากการทำประกัน การลงทุน

 

ทั้งหมดนี้คือเอกสารที่จำเป็นในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ผู้เสียภาษีควรตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วนก่อนยื่นภาษีเพื่อป้องกันความผิดพลาด

 

ยื่นภาษีแบบ RD Smart Tax คืออะไร

มือใหม่เพิ่งเริ่มยื่นภาษีครั้งแรก อาจจะไม่ถนัดกรอกแบบฟอร์ม หรือยื่นภาษีออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร เพราะกลัวจะกรอกข้อมูลผิด เพราะรายละเอียดค่อนข้างเยอะพอสมควร อีกหนึ่งช่องทางในการยื่นภาษีที่เราขอแนะนำ นั่นก็คือ RD Smart TAX คือแอปพลิเคชันยื่นภาษีออนไลน์ ง่ายและสะดวก สามารถยื่นภาษีได้ทั้ง ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91 และ ภ.ง.ด.95

 

 

ยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax ต้องทำอย่างไร

หากคุณไม่เคยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์  efiling.rd.go.th ของกรมสรรพากร แนะนำให้สมัครสมาชิกไว้ก่อนได้เลย เพราะว่าต้องใช้รหัสผ่านจากเว็บไซต์มากรอกลงในแอปพลิเคชัน RD Smart Tax โดยขั้นตอนการสมัครสมาชิกก็ไม่ยุ่งยาก เริ่มด้วย

 

  • เข้าไปที่เว็บไซต์ efiling.rd.go.th คลิก "สมัครสมาชิก"
  • กรอกหมายเลขบัตรประชาชน รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ ลงทะเบียนตามขั้นตอนได้เลย
  • ตั้งค่ารหัสผ่าน จำรหัสนั้นไว้ เพื่อมาใช้ยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax

 

สำหรับการเข้าสู่ระบบ RD Smart Tax ด้วยการกรอกเลขบัตรประชาชน หรือ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และรหัสผ่านที่เราได้ทำการลงทะเบียนเอาไว้ ซึ่งเราสามารถ ยื่นภาษี หรือถ้ายังไม่ทราบว่าต้องจ่ายภาษีเท่าไร สามารถทดลองคำนวณภาษี ได้ด้วย ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทั้งระบบ iOS และ Android  

 

เงินเดือนไม่ถึง ต้องยื่นภาษีไหม

กรณีที่ รายได้ไม่ถึง 15,000 บาท ต้องยื่นภาษีไหม กรมสรรพากรได้กำหนดให้ผู้ที่มีเงินได้ "ต้องยื่นแบบแสดงรายได้" แต่ไม่ต้องเสียภาษี แม้จะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ และกรมสรรพากรยังระบุอีกว่าผู้ที่มีสถานะต่อไปนี้ต้องยื่นภาษี นั่นก็คือ[1] [2]

 

1. คนโสดที่มีเงินได้เกิน 120,000 บาท ต่อปี

หากได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างแบบไม่มีรายได้อื่นตลอดทั้งปีเกิน 120,000 บาท อันนี้รวมถึงเบี้ยเลี้ยง โบนัส ตามมาตรา 40 (1) ด้วยนะ กรณีนี้ต้องยื่นภาษี แม้ว่าคำนวณภาษีแล้วไม่มีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มก็ตาม เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีรายได้ตามมาตรา 40 (1) และยังมีเงินได้จากการขายของออนไลน์, รายได้จากเงินปันผลกองทุนรวม เกิน 60,000 บาท ก็ต้องยื่นภาษี

 

2. คู่สมรสที่มีเงินได้เกิน 220,000 บาทต่อปี

กรณีที่ได้รับเงินค่าจ้างตามมาตรา 40 (1) นั่นก็คือเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งเบี้ยเลี้ยง โบนัส และเป็นเงินได้เพียงประเภทเดียว เกิน 220,000 บาทต่อปี จำเป็นต้องยื่นภาษี กรณีไม่มีค่าจ้างหรือเงินเดือน แต่มีเงินได้ประเภทอื่น อาทิ เงินปันผลกองทุนรวม เงินจากการขายของออนไลน์ เกิน 120,000 บาท ก็ต้องยื่นภาษี

 

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนโสด หรือมีคู่แล้ว หากกำลังมองหาการลงทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ขอแนะนำตัวเลือกในการลงทุนให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ดูรายละเอียดการลงทุนเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

แล้วถ้าไม่จ่ายภาษีมีผลอะไร?

รู้หรือไม่? การไม่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอาจมีความผิด

 

  • กรณีไม่ยื่นแบบตามเวลาที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษ ปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
  • กรณีชำระภาษีไม่ทันเวลาที่กฎหมายกำหนด ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของเงินภาษีที่ต้องชำระ นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
  • กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

และการยื่นภาษีครั้งแรกของคุณ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปถ้าคุณเตรียมเอกสารที่จำเป็น และทำตามขั้นตอนที่เราได้แนะนำไว้ เท่านี้คุณก็สามารถยื่นภาษีได้ด้วยตัวเองอย่างง่าย ๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าปรับเพิ่มเติมหรือการดำเนินคดี อีกทั้งเดี๋ยวนี้เราสามารถยื่นภาษีง่าย ๆ ด้วยตัวเองไม่ว่าจะไปยื่นด้วยตัวเอง ณ สำนักงานสรรพากร หรือสามารถยื่นแบบภาษีออนไลน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และทางแอปพลิเคชัน RD Smart Tax คืออีกหนึ่งช่องทางที่กรมสรรพากรอำนวยความสะดวกให้ผู้มีเงินได้ได้ยื่นภาษี เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีรายได้ การยื่นภาษี ถือเป็นหน้าที่ของทุกคน

 


คุณอาจสนใจ