หลาย ๆ คนน่าจะเคยคุ้นกับ กองทุนรวม (Mutual Fund) อีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับเหล่านักลงทุน เพราะนอกจากจะสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ที่หลากหลายแล้ว ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนของคุณอีกด้วย แล้ว กองทุนรวมคืออะไร ผลตอบแทนที่ได้เป็นยังไง ลงทุนในกองทุนรวม RMF และ SSF อย่างไรให้เงินงอกเงย และปลอดภัยจากความเสี่ยง เราไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนรวมเบื้องต้นผ่านบทความนี้กันเลย
กองทุนรวมคืออะไร?
กองทุนรวมคือ การรวบรวมเงินจากนักลงทุนหลายรายเพื่อซื้อหลักทรัพย์ เช่น หุ้น พันธบัตร สินทรัพย์อื่น ๆ มารวมเป็นเงินลงทุนก้อนใหญ่ โดยมี “ผู้จัดการกองทุน” ทำหน้าที่บริหาร เพื่อนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมตามนโยบายที่ตนเองสนใจ
ข้อดีของการลงทุนในกองทุนรวมคือ สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ตามระดับความเสี่ยงที่เรารับไหว มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ มีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลบริหารเงินลงทุนให้ ช่วยเพิ่มโอกาสให้เราได้รับผลตอบแทนมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถทยอยลงทุนแบบเป็นประจำในจำนวนเงินที่เท่ากันทุกเดือน หรือ DCA (Dollar Cost Average) ได้ด้วย
โดยผลตอบแทนกองทุนรวม จะมาจาก ส่วนแบ่งกําไรจากการขายหน่วยลงทุน หรือที่เรียกว่า “เงินปันผล” กรณีที่กองทุนรวมนั้นมีนโยบายจ่ายเงินปันผล และ ผลกำไรส่วนต่างจากราคาหลักทรัพย์ (Capital Gain/Loss)
ประเภทของกองทุนรวม มีอะไรบ้าง?
กองทุนรวมมีให้เลือกลงทุนหลากหลายประเภท ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ นโยบายของแต่ละกองทุน โดยกองทุนรวมแต่ละประเภทก็มักมีความเสี่ยงต่างกันไป มาดูกันว่ากองทุนรวมแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง
1. กองทุนรวม RMF (Retirement Mutual Fund)
RMF คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่ส่งเสริมการออมเงินในระยะยาว เตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณอายุและมีสิทธิลดหย่อนภาษีได้ RMF สามารถลงทุนได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ตราสารหนี้ หุ้นทั้งในและต่างประเทศ ทรัพย์สินทางเลือก ฯลฯ โดยมีเงื่อนไขหลักก็คือ จะต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก โดยจะต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี และสามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้ต่อเมื่อมีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์
2. กองทุนรวม SSF (Super Saving Funds)
SSF คือ กองทุนเพื่อการออมระยะยาวที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษี SSF สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลายประเภทเหมือนกองทุนรวมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในตลาดเงิน กองทุนดัชนี ตราสารหนี้ ฯลฯ โดยมีเงื่อนไขหลักก็คือ จะต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี เมื่อครบกำหนดถือครองสามารถไถ่ถอนได้
3. กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)
สำหรับมือใหม่หัดลงทุน หรือนักลงทุนคนไหนที่สามารถรับความเสี่ยงในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ถือเป็นตัวเลือกที่ดี ตราสารหนี้มีหลายรูปแบบ อาทิ พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงิน และหุ้นกู้ของภาคเอกชน ผลตอบแทนที่กองทุนได้ร้บจากการลงทุนส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ย
4. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)
เป็นการลงทุนระยะสั้นที่เหมาะสำหรับเป็นที่พักเงินชั่วคราว เน้นลงทุนในเงินฝาก และตราสารหนี้คุณภาพดีที่มีอายุคงเหลือต่ำกว่า 1 ปี เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด แต่ได้รับผลตอบแทนน้อยที่สุด
5. กองทุนรวมที่ลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก (Alternative Investment)
การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ น้ำมันดิบ รวมถึง ทองคำ ถือเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากทรัพยสินที่ลงทุนไปอาจมีความผันผวนของราคา ก่อนตัดสินใจลงทุนกับทรัพย์สินทางเลือก ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เราลงทุนด้วย