คุณอยู่ที่

  • บทความ
  • ผลิตภัณฑ์ธนาคาร
  • ช่องทางบริการธนาคาร
  • เกี่ยวกับเรา
  • บริการช่วยเหลือ
  • ลิงก์ด่วน
ผลิตภัณฑ์ธนาคาร
เกี่ยวกับเรา
Financial Guru
Business Maker
Lifestyle Tips
ลงทุน
บริการโอนเงินระหว่างประเทศ
CIMB THAI App
ข่าวและกิจกรรม

 

ในปัจจุบันผู้คนจึงเริ่มสนใจเรื่องการวางแผนเกษียณกันมากขึ้นเพื่อที่จะมีเงินเก็บไว้ใช้ยามแก่ชรา โดยในแต่ละปีมีมนุษย์เงินเดือนที่เกษียณอายุมากขึ้น ทั้งการเกษียณจากอายุงาน หรือการเกษียณด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเกษียณแบบไหนก็ตาม การเลือกวางแผนเกษียณไว้ล่วงหน้าย่อมดีกว่า โดย CIMB Thai Bank จะมาแนะนำการวางแผนเกษียณอย่างมีสไตล์ ฉบับมนุษย์เงินเดือนกัน อยากเริ่มวางแผนเกษียณกันแล้ว ไม่รู้ว่าหลังเกษียณควรมีเงินเก็บเท่าไหร่ดี เรามีคำตอบให้คุณ

 

7 เทคนิคการวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน เงินเพิ่มพูน ไม่ลำบากตอนแก่

 

 

ใครหลายคนอาจคิดว่าการวางแผนทางด้านการเงินหลังการเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือนเป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลานาน แต่เราขอบอกเลยว่าไม่เป็นแบบนั้นแน่นอน โดยในหัวข้อนี้เราจะมาบอก 7 เทคนิคการวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือน เงินเพิ่มพูน มีใช้อย่างเหลือเฟือ

 

1.กำหนดการเกษียณอายุงาน

ก่อนที่คุณจะวางแผนเกษียณ คุณควรเริ่มกำหนดอายุเกษียณของตนเองไว้ก่อน หากคุณทำงานอยู่ที่บริษัทเอกชนแต่ไม่ทราบว่าบริษัทเอกชนเกษียณอายุเท่าไหร่ หรือตอนไหน? ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเอกชนจะเริ่มเกษียณอายุงานตอนอายุประมาณ 55 – 60 ปี และหลังจากเกษียณคนเราจะสามารถอยู่ได้จนถึงอายุประมาณ 80 ปี แต่ถ้าคุณสามารถอยู่ได้จนถึงอายุ 90 กว่าปี คุณจะมีอายุหลังการเกษียณประมาณ 25 ปี แต่ทั้งนี้อายุเกษียณจะมากหรือน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย

 

2.กำหนดค่าใช้จ่ายที่ต้องการหลังการเกษียณ

คุณสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายที่ต้องการหลังการเกษียณได้ โดยอ้างอิงจากค่าใช้จ่ายในปัจจุบันว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เมื่อทราบแล้วให้คุณลองหักค่าใช้จ่ายในส่วนที่คุณคิดว่าจ่ายหมดแล้วหลังจากเกษียณดู เช่น ค่าผ่อนรถ โดยสมมติว่าตอนนี้คุณมีอายุ 30 ปี และมีหนี้ที่ต้องผ่อนรถเดือนละ 6000 บาท เป็นระยะเวลา 8 ปี สำหรับการวางแผนเกษียณคุณไม่จำเป็นต้องคิดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แล้ว เพราะเงินส่วนนี้จะเป็นเงินที่หมดหลังจากการเกษียณอายุแน่นอน

 

โดยเงินที่คุณต้องนำมาคำนวณเพื่อวางแผนเกษียณต้องเป็นเงินที่ใช้สำหรับจ่ายค่ากินค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคต่าง ๆ เช่น คุณใช้เงินต่อเดือนประมาณ 20,000 บาท แต่เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อประมาณ 2 ถึง 3% ต่อปี ซึ่ง 20 ปีข้างหน้าเงิน 20,000 บาท อาจมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นถึง 40,000 บาท จากการคำนวณจะได้40,000 x 12 = 480,000 และนำ 480,000 x 20 = 9,600,000 ดังนั้นหลังการเกษียณคุณควรมีเงินเก็บประมาณ 9,600,000 บาท 

 

3. คำนวณรายได้หลังเกษียณอายุ

เราอยากให้คุณลองคิดล่วงหน้าว่าหลังเกษียณอายุไปแล้ว คุณจะมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอะไรบ้าง อย่างไรก็ตามควรคิดถึงความเป็นไปได้ในปัจจุบันและคำนึงถึงรายได้หลังการเกษียณด้วย 

 

4. คำนวณค่าใช้จ่ายและเงินออม

คุณสามารถนำเงินฝาก เงินออม เงินทุนประกันสังคมหรือกองทุนต่าง ๆ มาคำนวณเพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าคุณต้องมีเงินเพิ่มอีกเท่าไหร่จึงจะเพียงพอกับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างไม่ลำบาก

 

5. วางแผนการออมเงินอย่างมีระเบียบ

ถ้าคุณต้องการให้การวางแผนเกษียณของคุณประสบความสำเร็จ คุณต้องวางแผนการออมเงินอย่างมีระเบียบวินัย โดยคุณสามารถเลือกออมเงินแบบไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินเข้าบัญชี หรือการลงทุนกับกองทุนรวมต่าง ๆ ก็ทำได้เช่นกัน อย่างธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ก็มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บัญชีเงินฝากประจำ เป็นต้น

 

6. วางแผนการลงทุนในสินทรัพย์

อีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจหากคุณต้องการมีเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ คือการซื้อที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไร หรือการซื้อคอนโดไว้ปล่อยเช่า โดยสิ่งเหล่านี้จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับดอกเบี้ย ดังนั้นคุณจะไม่ต้องกังวลเลยว่าหลังเกษียณคุณจะไม่มีเงินใช้ หากเลือกลงทุนประเภทนี้

 

7. ตรวจสอบและติดตามแผนเกษียณอายุอย่างสม่ำเสมอ

มาถึงข้อสุดท้ายของเทคนิคการวางแผนเกษียณอายุกันแล้ว โดยเมื่อคุณเริ่มวางแผนออมเงินและเก็บเงินมาระยะหนึ่งแล้ว สิ่งที่คุณควรต้องทำถัดไป คือการติดตามเงินออมของคุณว่ามีเงินหรือขาดเงินอีกเท่าไหร่ การทำเช่นนี้จะทำให้คุณมองเห็นแผนการออมเงินของคุณได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และสามารถออมเงินอย่างเป็นระบบมากขึ้นอีกด้วย

 

หลังเกษียณอายุจะได้รับสิทธิอะไรบ้าง?

 

 

การวางแผนหลังเกษียณเป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ เนื่องจากจะมีเรื่องของการเงินและสิทธิ์ต่าง ๆ ที่จะได้รับหลังจากเกษียณอายุ โดยจะมี 4 สิ่งหลัก ๆ ที่มนุษย์เงินเดือนจะได้รับคือ

  1. เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
  2. เงินชราภาพจากประกันสังคม
  3. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
  4. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

1.  เงินชดเชยตามกฎหมาย

ตามกฏหมายแรงงานผู้ที่เป็นนายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ถูกเลิกจ้าง หรือเกษียณอายุ โดยเงินชดเชยตามกฎหมายจะเป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะได้รับเป็นเงินเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน ดังนั้นหากลูกจ้างเกษียณตามเกณฑ์บริษัท หรือเกษียณตอนอายุ 60 ปี ลูกจ้างจะได้เงินชดเชยตามกฏหมายแรงงาน ทั้งนี้จะใช้การคำนวณตามระยะเวลาการทำงานและเงินเดือนสุดท้ายที่ได้รับ เช่น

  • หากมีอายุงาน (ต่อเนื่อง) เป็นระยะเวลา 120 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี  จะได้รับเงินชดเชย 30 วัน
  • หากมีอายุงาน (ต่อเนื่อง) เป็นระยะเวลา 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี จะได้รับเงินชดเชย 90 วัน
  • หากมีอายุงาน (ต่อเนื่อง) เป็นระยะเวลา 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี จะได้รับเงินชดเชย 180 วัน
  • หากมีอายุงาน (ต่อเนื่อง) เป็นระยะเวลา 6 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี จะได้รับเงินชดเชย 240 วัน
  • หากมีอายุงาน (ต่อเนื่อง) เป็นระยะเวลา 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี จะได้รับเงินชดเชย 300 วัน
  • หากมีอายุงาน (ต่อเนื่อง) เป็นระยะเวลา 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 400 วัน

 

2.  เงินชราภาพจากประกันสังคม

เกษียณอายุ 55 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินอะไรบ้าง? โดยคุณจะได้รับเงินชราภาพจากประกันสังคม ซึ่งสามารถติดต่อรับเงินนี้ได้ภายใน 2 ปี ทั้งนี้จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญสามารถดูได้ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

  1. กรณีที่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน หรือไม่ถึง 15 ปี เงินที่ได้รับจะเป็นบำเหน็จเงินก้อน
  2. กรณีที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน หรือตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปเงินที่ได้รับจะเป็นเงินบำนาญรายเดือนตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตามสิทธิ์ในการได้รับเงินบำนาญรายเดือนจากประกันสังคมจะอยู่ที่ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย หากคุณจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน คุณจะได้รับเงินสมทบเพิ่มเป็นร้อยละ 1.5 เป็นเวลา 12 เดือน หรือ 1 ปี

 

3.  เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสามารถรับได้ทั้งผู้ที่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินเดือนประจำ หรือผู้ที่ได้รับเงินชราภาพจากประกันสังคม โดยเมื่อเกษียณอายุจะไม่ถูกนับว่าเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคมอีกต่อไปแล้ว ด้วยเหตุนี้เมื่อคุณมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ก็ยังสามารถรับเบี้ยยังชีพในทุก ๆ เดือนได้ และจะได้รับเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปีตามช่วงอายุ สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสามารถเข้าไปที่สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร หรือที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อยื่นคำขอหรือลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้เลย

 

4. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนที่เกิดจากการร่วมมือกันของนายจ้างและลูกจ้างร่วมจัดตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นสวัสดิการส่วนหนึ่งในยามที่ลูกจ้างเกษียณอายุ

ซึ่งเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้จาก

  1. เงินสะสมของผู้ที่เป็นสมาชิกจะมีการหักจากเงินค่าจ้าง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง
  2. เงินสมทบของส่วนนายจ้างจะมีจ่ายสมทบเข้ากองทุนให้กับลูกจ้าง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง

 

 

การที่คุณได้วางแผนเกษียณไว้ก่อน จะทำให้คุณมีเงินใช้และสามารถมีชีวิตหลังเกษียณได้อย่างไม่ลำบาก ดังนั้นไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ หากเริ่มต้นวางแผนเกษียณวันนี้ รับรองเลยว่าในอนาคตชีวิตของคุณจะมีความสุข และมีเงินใช้เพื่อทำในสิ่งที่คุณอยากทำได้อย่างแน่นอน

 

 

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://online.scbprotect.co.th/content/retirement-plans-for-salaryman

https://www.dharmniti.co.th/retirement-benefits/

https://www.scbam.com/th/pvd/pvd-about/