คุณอยู่ที่

  • บทความ
  • ผลิตภัณฑ์ธนาคาร
  • ช่องทางบริการธนาคาร
  • เกี่ยวกับเรา
  • บริการช่วยเหลือ
  • ลิงก์ด่วน
ผลิตภัณฑ์ธนาคาร
เกี่ยวกับเรา
Financial Guru
Business Maker
Lifestyle Tips
ลงทุน
บริการโอนเงินระหว่างประเทศ
CIMB THAI App
ข่าวและกิจกรรม
อัตราและค่าธรรมเนียม


เมื่อก้าวเท้าเข้าสู่วัยทำงาน สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นคือการเสียภาษี เพราะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ทุกคนต้องปฏิบัติ แต่ถ้าเพิ่งยื่นภาษีเงินได้เป็นครั้งแรก ย่อมสงสัยแน่นอนว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร? และหากต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี 2568 ต้องทำอย่างไรบ้าง ดังนั้นอย่ารอช้ามาหาคำตอบพร้อมกันดีกว่า เพื่อให้คุณเตรียมตัวยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2568 ได้อย่างถูกต้อง

 

สารบัญบทความ
 

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีกี่ประเภท
  • ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • ยื่นภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาทำได้เมื่อไร
  • รายได้เท่าไหร่ที่เข้าเกณฑ์เสียภาษี ลดหย่อนอะไรได้บ้าง
  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคำนวณอย่างไร
  • อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2568
  • ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
  • ขอยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ที่ไหนบ้าง
  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา วางแผนให้ดี ประหยัดภาษีอีกเพียบ!
     

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีกี่ประเภท


ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บกับบุคคลที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี ซึ่งภาครัฐสามารถจัดเก็บเป็นรายครั้ง, รายเดือน หรือรายปี โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บกับรายได้ทั้งหมด 8 ประเภท ดังนี้

 

  • เงินได้ประเภท 1 - เงินได้ซึ่งเกิดจากการจ้างงานในลักษณะของงานประจำ เช่น เงินเดือน หรือ โบนัส เป็นต้น
  • เงินได้ประเภท 2 - เงินได้ซึ่งเกิดจากการจ้างงานเป็นครั้งคราว โดยผู้ทำอาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ อยู่ในกลุ่มที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประเภทนี้
  • เงินได้ประเภท 3 - เงินได้จากค่าตอบแทนทรัพย์สินทางปัญญา หรือค่าลิขสิทธิ์ เช่น ค่าตอบแทนจากการเขียนเพลง เป็นต้น
  • เงินได้ประเภท 4 - เงินได้จากการลงทุนประเภทต่าง ๆ เช่น ดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝากประจํา คือ ตัวอย่างหนึ่งที่ต้องยื่นภาษีเงินได้ประเภท 4
  • เงินได้ประเภท 5 - เงินได้ในรูปแบบของค่าเช่า แต่หากในระหว่างปีภาษี ได้รับเงินได้จากค่าชดเชยผิดสัญญาเงินผ่อน หรือค่าชดเชยผิดสัญญาเช่าซื้อ ก็ให้นำเงินได้ดังกล่าวมาคํานวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ด้วยเช่นกัน
  • เงินได้ประเภท 6 - เงินได้จากค่าตอบแทนอาชีพอิสระ เช่น การบัญชี การแพทย์ หรือกฎหมาย เป็นต้น
  • เงินได้ประเภท 7 - เงินได้จากค่ารับเหมา โดยผู้มีเงินได้ต้องเป็นผู้จัดหาแรงงาน หรือวัสดุอุปกรณ์ สำหรับงานรับเหมานั้นๆ 
  • เงินได้ประเภท 8 - เงินได้จากการดำเนินธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การขนส่ง พาณิชยกรรม หรือเกษตรกรรม
     

ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา



ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีทั้งหมด 5 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

 

    1. บุคคลทั่วไป เช่น มนุษย์เงินเดือน หรือฟรีแลนซ์
 

    2. คณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล โดยให้ผู้จัดการ หรือผู้อำนวยการ เป็นผู้ยื่นแบบ
 

    3. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง โดยให้ทายาทผู้รับมรดก หรือผู้จัดการมรดก เป็นผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
 

    4. วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นคณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล
 

    5. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี โดยให้ทายาทผู้รับมรดก หรือผู้จัดการมรดก เป็นผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
 

ยื่นภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาทำได้เมื่อไร


การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถแบ่งได้ 2 วิธี ดังนี้

 

    1. ยื่นแบบกระดาษ - ยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม

    2. ยื่นทางออนไลน์- ยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน

 

อย่างไรก็ตามหากคุณมีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5-8 มากกว่า 60,000 บาท จะต้องยื่นภาษีตอนช่วงกลางปี โดยยื่นผ่านแบบ ภ.ง.ด. 94 ภายในเดือนกันยายน
 

รายได้เท่าไหร่ที่เข้าเกณฑ์เสียภาษี ลดหย่อนอะไรได้บ้าง

 

มาถึงคำถามที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนอยากรู้นั่นคือ รายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา? แล้วรายการสิทธิ์ลดหย่อนภาษี 2568 มีอะไรบ้าง? โดยบุคคลที่มีเงินได้สุทธิเกินกว่า 150,000 บาท จะเริ่มเสียภาษีในอัตราขั้นบันได 5% แรก และหากเงินได้สุทธิเกินกว่า 5 ล้านบาท จะเสียภาษี 35% ซึ่งเป็นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุด

 

แต่ทั้งนี้กรมสรรพากรไม่ได้คิดภาษีทั้งหมดตามอัตราภาษีที่ต้องจ่ายเสียทีเดียว เพราะเราสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ผู้มีเงินได้ลดหย่อนภาษีได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. ลดหย่อนแบบทั่วไป 2. ลดหย่อนตามนโยบายภาครัฐ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

1.กลุ่มลดหย่อนภาษีทั่วไป

 

1.1 ลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

 

  • ลดหย่อนส่วนตัว - 60,000 บาท
  • ลดหย่อนบุตร - คนละ 30,000 บาท ส่วนบุตรคนที่สองเป็นต้นไปที่เกิดปี พ.ศ. 2561 ลดหย่อน 60,000 บาท
  • ลดหย่อนคู่สมรส - 60,000 บาท
  • ลดหย่อนค่าอุปการะบิดา-มารดา คนละ 30,000 บาท
  • ลดหย่อนค่าฝากครรภ์ หรือค่าคลอดบุตร - 60,000 บาท
  • ลดหย่อนค่าอุปการะผู้พิการ หรือทุพพลภาพ - 60,000 บาท

 

1.2 ลดหย่อนกลุ่มประกันและการลงทุน

 

  • ประกันสังคม - พนักงานประจำที่จ่ายค่าประกันสังคมมาตรา 33 ทุกเดือน สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 9,000 บาท
  • ประกันสุขภาพบิดา มารดา - 15,000 บาท
  • ประกันสุขภาพตัวเอง - 25,000 บาท
  • ค่าประกันชีวิต - 100,000 บาท (ในกรณีที่ซื้อประกันสุขภาพให้ตัวเองด้วย เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้วลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท

นอกจากนี้หากคุณลงทุนในกองทุนประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะด้วยวิธี dca คือ การเฉลี่ยลงทุนทุกเดือน หรือลงทุนจำนวนมากในครั้งเดียว (Lump Sum) ก็ขอลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน

 

  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/ กบข. - 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ - 30,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) - 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) - 30% ของเงินได้ไม่เกิน 500,000 บาท

 

ในกรณีที่ลงทุนทั้งกองทุนการออมแห่งชาติ, กองทุน SSF และกองทุน RMF รวมกันแล้วลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท

 

  • กองทุน Thai ESG - 30% ของเงินได้ไม่เกิน 300,000 บาท

 

1.3 ลดหย่อนกลุ่มบริจาค

 

  • บริจาคพรรคการเมือง - สูงสุด 10,000 บาท
  • บริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา สังคม และโรงพยาบาลรัฐ - 2 เท่าของเงินบริจาคที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  • บริจาคให้แก่มูลนิธิ และองค์กรการกุศล - ลดหย่อนตามเงินบริจาคที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

 

2.ลดหย่อนตามกลุ่มนโยบายภาครัฐ

 

  • โครงการ Easy E-Receipt - ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุด 50,000 บาท
  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย - สูงสุด 100,000 บาท
  • โครงการท่องเที่ยวเมืองรอง - สูงสุด 15,000 บาท
  • ค่าสร้างบ้านใหม่ - สูงสุด 100,000 บาท
     

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคำนวณอย่างไร 



หากอยากรู้ว่าเราต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่? สามารถศึกษาวิธีคํานวณภาษีได้จากสูตร ดังต่อไปนี้

 

  • เงินได้สุทธิ = รายได้ทั้งปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน

 

ตัวอย่างเช่น นาย A เป็นพนักงานบริษัท เงินเดือน 30,000 บาท ในกรณีนี้นาย A จะมีรายได้ทั้งปี 30,000 X 12 = 360,000 บาท ค่าใช้จ่าย ตามกฎหมายหักได้สูงสุด 100,000 บาท และนาย A สามารถหักลดหย่อนได้ 2 อย่าง ได้แก่ รายการหักลดหย่อนส่วนบุคคล 60,000 บาท และรายการหักลดหย่อนประกันสังคม 9,000 บาท

 

ดังนั้นเงินได้สุทธิของนาย A = 360,000 - 100,000 - 60,000 - 9,000 = 191,000 บาท

 

เมื่อคำนวณเงินได้สุทธิแล้ว พบว่าเงินได้สุทธิของนาย A ตกอยู่ในช่วงอัตราภาษีสูงสุดที่ 5% จากนั้นจะนำเอาเงินสุทธิที่ได้ไปคำนวณภาษีแบบขั้นบันได โดยกรณีตัวอย่างนี้นาย A จะต้องเสียภาษี ดังนี้ 

 

  • เงินได้สุทธิ X อัตราภาษีตามขั้นบันได = เงินภาษีที่ต้องชำระ
    = (191,000 - 150,000) X 5% = 2,050 บาท
     

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2568  


อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคิดแบบขั้นบันได หมายความว่ายิ่งมีเงินได้สุทธิสูงมากขึ้นเท่าใด ภาษีที่ต้องเสียก็จะสูงขึ้นตาม โดยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2568 แสดงได้จากตารางดังนี้
 

รายได้สุทธิ (บาท) อัตราภาษี
ไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี
ตั้งแต่ 150,001 บาท - 300,000 บาท 5%
ตั้งแต่ 300,001 บาท - 500,000 บาท 10%
ตั้งแต่ 500,001 บาท - 750,000 บาท 15%
ตั้งแต่ 750,001 บาท - 1,000,000 บาท 20%
ตั้งแต่ 1,000,001 บาท - 2,000,000 บาท 25%
ตั้งแต่ 2,000,001 บาท - 5,000,000 บาท 30%
ตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไป 35%

ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง 


เอกสารที่ใช้ในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประกอบแบบ ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 มีดังต่อไปนี้

 

  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
  • เอกสารที่ใช้ภาษีเงินได้ตามสิทธิ์ลดหย่อนทั่วไป เช่น ใบเสร็จที่ได้รับจากการบริจาค, ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต, แบบ ล.ย. 03 สำหรับผู้ต้องการขอลดหย่อนจากค่าอุปการะบิดา-มารดา
  • เอกสารลดหย่อนภาษีจากนโยบายภาครัฐ เช่น เอกสารชำระดอกเบี้ยเงินกู้ หรือคอนโด ซึ่งลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท, ใบเสร็จจากการซื้อสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ Easy-E-receipt ลดหย่อนได้สูงสุด 50,000 บาท 

 

ขอยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ที่ไหนบ้าง

 

ปัจจุบันกรมสรรพากรได้พัฒนาช่องทางการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้หลากหลายช่องทาง ดังต่อไปนี้

 

  • นำเอกสารยื่นภาษีผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้าน
  • ที่ทำการไปรษณีย์ (สำหรับผู้มีเงินได้ภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครที่ประสงค์ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ) โดยต้องยื่นระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 
  • ยื่นภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ทางออนไลน์ ซึ่งได้แก่ เว็บไซต์ของกรมสรรพากร (E-Filing) หรือแอปพลิเคชัน RD Smart Tax 
     

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา วางแผนให้ดี ประหยัดภาษีอีกเพียบ!


การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ว่าจะเด็กจบใหม่หรือคนทำงานมานาน ควรให้ความสนใจ เพราะช่วยลดภาระภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อเงินมีเหลือมากขึ้นจากการเสียภาษีบุคคลธรรมดาลดลง ก็สามารถนำเงินไปต่อยอดแผนการเงินที่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นโปะค่าบ้าน จ่ายค่าเทอมลูก หรือลงทุนในกองทุนรวมเพิ่มเติม

 

หากใครต้องการสมัครกองทุนรวมเพื่อวางแผนลดหย่อนภาษี ต้องไม่พลาดกับกองทุนรวมเพื่อเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) CIMB THAI Bank ได้คัดเลือกมาอย่างคุณภาพ บริหารโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ รวมไปถึงสินทรัพย์ลงทุนอื่น ๆ หลากหลายรูปแบบ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ CIMB THAI Care Center โทร 02 626 7777 พร้อมติดตามข้อมูลเพิ่มเติมผ่านช่องทางออนไลน์ของธนาคารได้ดังต่อไปนี