คุณอยู่ที่

  • บทความ
  • ผลิตภัณฑ์ธนาคาร
  • ช่องทางบริการธนาคาร
  • เกี่ยวกับเรา
  • บริการช่วยเหลือ
  • ลิงก์ด่วน
ผลิตภัณฑ์ธนาคาร
เกี่ยวกับเรา
Financial Guru
Business Maker
Lifestyle Tips
ลงทุน
บริการโอนเงินระหว่างประเทศ
CIMB THAI App
ข่าวและกิจกรรม

 

หุ้นกู้ คือหนึ่งในทางเลือกของการลงทุนคนยุคใหม่ที่พร้อมรับความเสี่ยงและกำลังมองหาผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนทั่ว ๆ ไป ทั้งการลงทุนกับพันธบัตรรัฐบาลหรือการรับดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคาร ก็นับเป็นตัวเลือกยอดฮิตทั้งนั้น แต่ก่อนจะตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้มีจุดสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจให้ดีกันก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหุ้นกู้ ผลตอบแทน และความเสี่ยงหุ้นกู้ที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นมาดูกันว่าหุ้นกู้มีกี่ประเภท แต่ละแบบต่างกันยังไง ถ้าจะซื้อขายหุ้นกู้ต้องทำยังไงบ้าง? หาคำตอบได้ในบทความนี้!

 

 

สารบัญบทความ

 

  • รู้จัก หุ้นกู้ คืออะไร? มีความเสี่ยงแค่ไหนเมื่อเทียบกับการลงทุนอื่น
  • ประเภทของหุ้นกู้มีแบบไหนบ้าง แต่ละแบบเหมาะกับใคร?
  • เคลียร์ให้ชัด! หุ้นกู้ตลาดแรก VS ตลาดรองต่างกันอย่างไร? ควรเลือกลงทุนตลาดไหนดี
  • รวมอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ แบบไหนที่น่าลงทุน?
  • ลงทุนในหุ้นกู้ดีอย่างไร ผลตอบแทนสูงจริงไหม? เหมาะกับใครบ้าง?
  • 3 ความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่นักลงทุนควรรู้และระวังก่อนลงทุน!
  • ซื้อหุ้นกู้ไม่ต้องออกใบ เปิดบัญชีเพื่อการลงทุนกับ CIMB THAI เลือกหุ้นกู้ให้เหมาะกับคุณที่สุด

 

รู้จัก หุ้นกู้ คืออะไร? มีความเสี่ยงแค่ไหนเมื่อเทียบกับการลงทุนอื่น


 

หุ้นกู้ หรือ Coporate Bond คือ หลักทรัพย์ที่บริษัทเอกชนหรือรัฐบาลออกเพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุน โดยผู้ซื้อขายหุ้นกู้จะได้ดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด และเมื่อถึงวันครบกำหนดก็จะได้รับเงินต้นคืนจากผู้ออกหุ้นกู้นั่นเอง การลงทุนหุ้นกู้แบบนี้จะได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่จ่ายเป็นงวด ๆ เช่น ทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนหุ้น แต่ก็ต้องระวังปัญหาการผิดนัดจ่ายหนี้กับผู้ออกหุ้นกู้ เช่นเดียวกับการลงทุนในเงินกู้นอกระบบ หรือหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงที่มีเงื่อนไขค่อนข้างซับซ้อนและความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป

 

ประเภทของหุ้นกู้มีแบบไหนบ้าง แต่ละแบบเหมาะกับใคร?


 

ประเภทหุ้นกู้สามารถแบ่งแยกได้ตามการมีประกันและสิทธิการเรียกร้อง ซึ่งจะแตกต่างกันตามรูปแบบที่บริษัทออกมา ทำให้การซื้อหุ้นกู้กับแต่ละบริษัทนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่แตกต่างกัน โดยที่หลัก ๆ จะแบ่งแยกได้ 4 ประเภท ได้แก่

 

หุ้นกู้มีประกัน

 

หุ้นกู้ที่มีประกันหมายถึงหุ้นกู้ที่มีทรัพย์สินหรือหลักประกันจากบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้น เพื่อเป็นการรับประกันการชำระหนี้ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยนักลงทุนจะมีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันก่อนผู้ถือหุ้นกู้ประเภทอื่น ๆ หากมีการผิดนัดจ่ายหนี้ ทำให้เป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะการมีหลักประกันช่วยลดความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน จึงมีดอกเบี้ยน้อยกว่าหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกันตามไปด้วยนั่นเอง

 

หุ้นกู้ไม่มีประกัน

 

หุ้นกู้ที่ไม่มีประกันหมายถึงหุ้นกู้ที่ไม่ได้มีหลักประกันใด ๆ รองรับการชำระหนี้ ทำให้นักลงทุนต้องพึ่งพาความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอย่างเดียวเท่านั้น จึงมีความเสี่ยงสูงกว่า เพราะหากบริษัทล้มละลาย นักลงทุนก็อาจไม่ได้รับการชำระหนี้เต็มจำนวน แต่ก็แลกมาด้วยการมีดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงสูงได้ดีเลยทีเดียว

 

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

 

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ คือ หุ้นกู้ที่มีลำดับสิทธิในการชำระหนี้รองลงมาจากหุ้นกู้ประเภทอื่น โดยหากบริษัทเกิดล้มละลายหรือผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมา นักลงทุนในหุ้นกู้นี้ก็จะได้รับเงินชำระหนี้ หลังจากที่ผู้ถือหุ้นไม่ด้อยสิทธิได้รับเงินไปก่อนแล้วเท่านั้น ดังนั้น หุ้นกู้ประเภทนี้จึงมีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้ประเภทอื่น ๆ แต่ก็มักจะให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพื่อล่อใจนักลงทุนให้รับความเสี่ยงในการลงทุนหุ้นกู้ประเภทนี้ตามไปด้วย

 

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

 

หุ้นกู้ที่ไม่ด้อยสิทธิ คือ หุ้นกู้ที่มีลำดับสิทธิในการชำระหนี้ที่สูงกว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิ จากที่บอกไปก่อนหน้าว่าผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิจะได้รับการชำระหนี้ก่อนหุ้นกูด้อยสิทธิเมื่อวันหนึ่งบริษัทมีปัญหาทางการเงิน ทำให้หุ้นกู้ประเภทนี้มีความเสี่ยงน้อยกว่า ทั้งยังดึงดูดนักลงทุนได้มากกว่า แต่ดอกเบี้ยที่จ่ายก็จะต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ทำให้เป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างเสี่ยงต่ำสำหรับการซื้อหุ้นกู้ของนักลงทุนหลาย ๆ คน

 

เคลียร์ให้ชัด! หุ้นกู้ตลาดแรก VS ตลาดรองต่างกันอย่างไร? ควรเลือกลงทุนตลาดไหนดี


 

การแบ่งประเภทของหุ้นกู้ตามการออกขายจะถูกแบ่งออกเป็นหุ้นกู้ตลาดแรกและหุ้นกู้ตลาดรอง ซึ่งทั้งสองประเภทนี้มีความแตกต่างกันไม่เพียงแค่ในแง่ของความหมาย แต่ยังรวมถึงผู้จำหน่ายหุ้นกู้ และผลตอบแทนที่คนลงทุนจะได้รับอีกด้วย

 

ความหมายของหุ้นกู้ตลาดแรกและตลาดรอง

 

หุ้นกู้ตลาดแรก (Primary Market) คือ ตลาดที่หุ้นกู้ถูกออกขายเป็นครั้งแรกโดยบริษัทหรือองค์กรที่ต้องการระดมทุน และผู้ลงทุนในตลาดแรกจะได้ซื้อหุ้นกู้ตรงจากผู้จำหน่าย ซึ่งการซื้อขายหุ้นกู้ในตลาดแรกนี้ จะช่วยให้บริษัทสามารถระดมทุนได้ทันที ตามข้อกำหนดของระยะเวลาในการลงทุน อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขการถอนหุ้นที่ชัดเจน

หุ้นกู้ตลาดรอง (Secondary Market) คือ ตลาดที่ที่นักลงทุนที่เคยซื้อหุ้นกู้จากตลาดแรกแล้วเอาหุ้นกู้ของตัวเองมาขายต่อให้คนอื่น โดยสามารถขายได้ผ่านหุ้นกู้เจ้าเดิมที่ซื้อมาตั้งแต่แรก ตลาดรองจึงช่วยให้ซื้อ–ขายหุ้นกู้ได้คล่องตัวขึ้น ไม่ต้องถือจนครบกำหนดก็มีทางออกให้ แต่ต้องยอมรับว่าราคาอาจขึ้นหรือลงตามสถานการณ์ตอนนั้น 

 

ผู้จำหน่าย

 

การออกขายหุ้นกู้ในตลาดแรก บริษัทหรือองค์กรจะเป็นผู้ที่ออกหุ้นกู้และทำการขายให้เอง โดยผู้ลงทุนจะได้ซื้อหุ้นกู้ในราคาที่กำหนดจากผู้ขาย ซึ่งการออกหุ้นกู้ในตลาดแรกจะเป็นการระดมทุนจากการขายให้แก่ผู้ลงทุนที่สนใจ โดยไม่จำเป็นต้องมีการซื้อขายผ่านตลาดรอง

ส่วนตลาดรองผู้จำหน่ายหุ้นกู้จะเป็นนักลงทุนรายอื่น ที่ต้องการขายหุ้นกู้ที่ตนเองถืออยู่ โดยเป็นการลงทุนหุ้นกู้เพื่อหวังผลกำไรนั่นเอง ดังนั้น นักลงทุนในตลาดรองจะเลือกซื้อขายหุ้นกู้ด้วยกันเอง ในราคาที่เปลี่ยนแปลงตามสภาพตลาดในช่วงเวลานั้นด้วย

 

ผลตอบแทน

 

ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกู้แต่ละแบบ อาจไม่เท่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้นั้น ๆ ระยะเวลาการลงทุน รวมถึงสภาพคล่องของตลาดในช่วงเวลานั้นด้วย

 

  • ในหุ้นกู้ตลาดแรกผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามอัตราดอกเบี้ยที่ได้กำหนดในตอนออกหุ้นกู้ ซึ่งมักจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างคงที่ตามระยะเวลาของหุ้นกู้ อีกทั้งการจ่ายดอกเบี้ยก็จะเกิดขึ้นตามที่กำหนด เช่น รายปี หรือรายครึ่งปี อีกด้วย
 
  • ในหุ้นกู้ตลาดรองผู้ลงทุนอาจได้รับผลตอบแทนต่างจากอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตอนแรก เพราะราคาซื้อ–ขายของหุ้นกู้ในตลาดรองจะเปลี่ยนไปตามสภาพตลาดและความต้องการของนักลงทุนถ้าราคาหุ้นกู้ในตลาดรองสูงขึ้น นักลงทุนที่เข้าซื้อตอนนั้นก็อาจได้ผลตอบแทนน้อยลง แต่ถ้าราคาหุ้นกู้ ลดลง ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนหรือกำไรที่มากขึ้น 

 

รวมอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ แบบไหนที่น่าลงทุน?


 

อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ คือตัวช่วยประเมินความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นกู้ได้ เพราะจะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจได้ว่า บริษัทนั้น ๆ เสี่ยงกับการลงทุนมากแค่ไหน โดยทั่วไปจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับหลัก ๆ ดังนี้

 

1. Investment Grade

 

หุ้นกู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้มักจะได้รับการจัดอันดับสูงจากสถาบันจัดอันดับเครดิต เช่น AAA, AA, A หรือ BBB หมายความว่า บริษัทที่ออกหุ้นกู้เหล่านี้มีความเสี่ยงต่ำในการผิดนัดชำระหนี้ และสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ทำให้ตอบโจทย์สำหรับนักลงทุนที่มองหาความปลอดภัย และกำไรที่มั่นคงแบบต่อเนื่อง

 

2. Non-Investment Grade หรือ Speculative Grade

 

หุ้นกู้กลุ่มนี้ คือ ประเภทที่มีการจัดอันดับต่ำกว่าระดับ Investment Grade เช่น BB, B หรือ CCC แปลว่า บริษัทในอันดับนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าในการผิดนัดชำระหนี้ ไม่ว่าจะด้วยสถานะการเงินที่ไม่มั่นคงหรือกำลังเจอความเสี่ยงจากการทำธุรกิจและการจ่ายหนี้ ทำให้นักลงทุนที่เลือกลงทุนในหุ้นกู้กลุ่มนี้จะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น เพื่อแลกกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น เรียกได้ว่าเป็นตัวเลือกสำหรับลงทุนหุ้นกู้เพื่อเก็งกำไรหรือผลตอบแทน

 

3. Unrated Bond

 

หุ้นกู้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับจากสถาบันจัดอันดับเครดิตจะถูกเรียกว่า "Unrated Bond" ซึ่งไม่มีการประเมินความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้จากหน่วยงานภายนอก ทำให้เสี่ยงสูงมาก เพราะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนทั้งความน่าเชื่อถือของบริษัทและความสามารถในการจ่ายคืน จึงควรระมัดระวัง และศึกษาข้อมูลของบริษัทที่ออกหุ้นกู้อันดับนี้ให้ดี ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน

 

ลงทุนในหุ้นกู้ดีอย่างไร ผลตอบแทนสูงจริงไหม? เหมาะกับใครบ้าง?


 

ก่อนจะตัดสินใจว่าหุ้นกู้เหมาะกับใครบ้าง ควรลงทุนหุ้นกู้ดีไหม? เราจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับข้อดีของการลงทุนหุ้นกู้กันก่อน ซึ่งมีด้วยกันดังนี้

 

  • ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินและพันธบัตรรัฐบาล: หุ้นกู้มักให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากเงินในธนาคารหรือพันธบัตรรัฐบาลจากความเสี่ยงที่ต่ำกว่า ส่วนดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป ก็ไม่สามารถทำให้เงินโตได้เร็วเท่ากับการลงทุนในหุ้นกู้ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าด้วยเช่นกัน
 
  • ความปลอดภัยของเงินลงทุน: แม้การลงทุนในหุ้นกู้จะมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล แต่หุ้นกู้จากบริษัทที่น่าเชื่อถือ ก็ย่อมปลอดภัยสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะบริษัทที่มีผลประกอบการที่มั่นคงและมีเครดิตดี ทำให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ได้รับด้วยนั่นเอง
 
  • การได้รับรายได้ประจำจากดอกเบี้ย: หุ้นกู้มักจะมีการจ่ายดอกเบี้ยให้กับนักลงทุนเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่อง ทำให้สามารถเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวได้ หากนักลงทุนเลือกหุ้นกู้ในตัวเลือกที่ดี ก็จะได้รับการจ่ายดอกเบี้ยในระยะยาว
 
  • ความยืดหยุ่นในการเลือกหุ้นกู้ที่เหมาะสม: นักลงทุนสามารถเลือกหุ้นกู้ที่มีอัตราผลตอบแทนสูง ตามความเสี่ยงหุ้นกู้ที่ยอมรับได้ ด้วยการตรวจสอบอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท หรือเลือกหุ้นกู้ที่อัตราผลตอบแทนสูงแต่ก็ตามมาด้วยความเสี่ยงที่มากขึ้น

 

3 ความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่นักลงทุนควรรู้และระวังก่อนลงทุน!


 

ก่อนจะตัดสินใจซื้อขายหุ้นกู้ การเข้าใจถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ของการลงทุนประเภทนี้ย่อมเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด! เพราะหุ้นกู้มีความเสี่ยงหลากหลาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็น

 

  • ความเสี่ยงด้านราคา

ราคาของหุ้นกู้ คือหนึ่งในความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวะตลาด และความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งหากบริษัทมีผลประกอบการที่ไม่ดีหรือมีปัญหาทางการเงิน ก็อาจส่งผลให้ราคาของหุ้นกู้ลดลง และทำให้การขายหุ้นกู้ก่อนกำหนดอาจขาดทุนได้

 

  • ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง

หุ้นกู้บางประเภทอาจมีการซื้อขายในตลาดรองได้ค่อนข้างจำกัดเลยทีเดียว ทำให้การขายหุ้นกู้ก่อนกำหนดเป็นไปได้ยาก นักลงทุนจึงอาจเสี่ยงเจอปัญหาในการถอนเงินออกจากการลงทุนในหุ้นกู้ที่ไม่มีสภาพคล่อง โดยเฉพาะเวลาที่ต้องการเงินด่วน

 

  • ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย

เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้น ราคาของหุ้นกู้จะลดลง เพราะผู้ลงทุนอาจหันไปลงทุนในหุ้นกู้ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าแทน หากดอกเบี้ยมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลง ซึ่งอาจส่งผลต่อค่าตอบแทนจากการลงทุนได้ นอกจากนี้หากถือหุ้นกู้ระยะยาว ก็มีโอกาสไม่ได้กำไรตามที่หวังอีกด้วย

 

ซื้อหุ้นกู้ไม่ต้องออกใบ เปิดบัญชีเพื่อการลงทุนกับ CIMB THAI เลือกหุ้นกู้ให้เหมาะกับคุณที่สุด


 

สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าหุ้นกู้ คืออะไร หรือกำลังตัดสินใจว่าจะลงทุนในหุ้นกู้ดีไหม หัวข้อต่าง ๆ ที่เราได้แนะนำไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหุ้นกู้ว่ามีกี่ประเภท หุ้นกู้และผลตอบแทน หรือแม้แต่ความเสี่ยงของหุ้นกู้ในการลงทุน ก็น่าจะช่วยให้คุณเข้าใจภาพรวมของการลงทุนในหุ้นกู้ได้ชัดเจนมากขึ้นแล้ว 

 

และหากใครที่กำลังสนใจลงทุนหุ้นกู้ เราขอแนะนำให้เปิดบัญชีเพื่อการลงทุนกับ CIMB ที่ทำได้ผ่านสาขาของธนาคารทั่วประเทศ หรือทางแอป CIMB THAI ที่จะช่วยให้การซื้อขายหุ้นกู้ของคุณทำได้ง่าย ไม่ต้องออกใบกำกับให้วุ่นวาย และยังดูพอร์ตการลงทุนได้สะดวกในทุกเวลาที่ต้องการ ซึ่งถือว่าเหมาะมากกับคนยุคนี้ที่อยากลงทุนแบบคล่องตัวและไม่เสียเวลา!

 

*คำเตือน : ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (พันธบัตร/หุ้นกู้) เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

 

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ CIMB THAI Care Center หรือโทร 02 626 7777 และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมผ่านช่องทางออนไลน์ของธนาคารได้ดังต่อไปนี้