เงินกู้นอกระบบ หรือ "เงินด่วนนอกระบบ" คือ การกู้ยืมเงินที่ไม่ผ่านสถาบันการเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ธนาคาร บริษัทสินเชื่อ หรือสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง โดยแหล่งเงินกู้นอกระบบมักจะมาจากบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ญาติ หรือนายทุนอิสระ โดยสามารถสังเกตได้จากลักษณะดังนี้
- มักไม่มีสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือมีสัญญาที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
- อัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือมากกว่านั้น (เงินกู้ในระบบมีดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 28% ต่อปี)
- เงื่อนไขการชำระหนี้ที่ไม่เป็นธรรม เช่น การทวงหนี้ด้วยวิธีการข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรง
- การคิดดอกเบี้ยแบบทบต้น ทำให้ยอดหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- สำหรับหนี้ระยะสั้น มักจะมีการเก็บดอกเบี้ยรายวัน โดยบวกทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไว้ด้วยกัน โดยลูกหนี้ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนให้แก่เจ้าหนี้เป็นรายวัน
- สำหรับหนี้ระยะยาว มักจะเป็นการปล่อยเงินกู้นอกระบบที่มีระยะเวลามากกว่า 1 เดือนขึ้นไปจนถึงรายปี เช่น เงินกู้นอกระบบรายเดือน โดยมีการเก็บดอกเบี้ยรายเดือนจนกว่าจะมีเงินก้อนมาใช้คืน ในกรณีที่ยอดเงินกู้ที่สูงมาก อาจมีการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น โฉนดที่ดิน
ตัวอย่างการคิดดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ
ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย = เงินต้น x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x ระยะเวลาผ่อน (ปี)
สมมติว่าคุณกู้เงินนอกระบบมา 100,000 บาท โดยมีดอกเบี้ย 20% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี
ดอกเบี้ยต่อปี: 100,000 x (20% x 12) x 1 = 240,000 บาท
เงินที่ต้องจ่ายคืนทั้งหมด: 100,000 บาท + 240,000 บาท = 340,000 บาท
ในขณะที่การกู้เงินแบบถูกกฎหมายมีดอกเบี้ยสูงสุดคือไม่เกิน 25% ต่อปี
ดอกเบี้ยต่อปี: 100,000 x 25% x 1 = 25,000
เงินที่ต้องจ่ายคืนทั้งหมด: 100,000 บาท + 25,000 บาท = 125,000 บาท
จะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปีของเงินกู้นอกระบบต่างจากการกู้เงินในระบบอย่างเห็นได้ชัด ทำให้การปิดหนี้นอกระบบจึงยากกว่าการปิดหนี้เงินกู้ในระบบที่มีดอกเบี้ยถูกกว่ามาก ดังนั้นจึงควรวางแผนการเงินให้ดี จะได้ไม่ต้องไปกู้นอกระบบ
ความเสี่ยงของการกู้เงินนอกระบบ มีอะไรบ้าง?
หลายคนอาจคิดว่าการยืมเงินกู้นอกระบบคือทางออกที่ง่ายและรวดเร็ว แต่จริง ๆ แล้วอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของคุณอย่างคาดไม่ถึง มาทำความเข้าใจความเสี่ยงเหล่านี้กัน
รายละเอียดสัญญาไม่ชัดเจน
สัญญาเงินกู้นอกระบบมักมีรายละเอียดไม่ครบถ้วน หรือมีข้อความคลุมเครือที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้กู้ ซึ่งอาจทำให้คุณเสียเปรียบเมื่อเกิดข้อพิพาท นอกจากนี้ ผู้ให้กู้อาจใช้กลอุบายต่าง ๆ เพื่อหลอกลวงหรือฉ้อโกง ทำให้คุณตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว
ดอกลอย
ผู้กู้เงินนอกระบบมักจะเจอ "ดอกลอย" ซึ่งเป็นวิธีการคิดดอกเบี้ยที่ไม่มีมาตรฐานและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ผู้ให้กู้อาจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามอำเภอใจ ทำให้คุณไม่สามารถวางแผนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างแม่นยำ และอาจต้องเผชิญกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น กู้ 10,000 บาท คิดดอกเบี้ย 20% ต่อเดือน ต้องจ่ายดอกเบี้ย 2,000 บาททุกเดือน แม้ว่าจะจ่ายไปบางส่วน เงินต้นก็ยังอยู่เท่าเดิม ทำให้ติดหนี้นอกระบบในระยะยาว
อัตราดอกเบี้ยสูง
อัตราดอกเบี้ยของเงินกู้นอกระบบมักสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด บางแห่งคิด 10-30% ต่อเดือน ซึ่งเท่ากับ 120-360% ต่อปี ในขณะที่กฎหมายกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลไม่เกิน 25% ต่อปี เท่านั้น ดอกเบี้ยที่สูงเกินไปอาจทำให้ผู้กู้ไม่สามารถปลดหนี้นอกระบบได้ และเข้าสู่ภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว
เจรจาประณีประนอมยาก
เงินกู้นอกระบบไม่มีการกำกับดูแลจากหน่วยงานรัฐ เจ้าหนี้มักไม่เปิดโอกาสให้ผู้กู้เจรจาขอลดดอกเบี้ย หรือผ่อนปรนการชำระหนี้ ต่างจากสถาบันการเงินที่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ ทำให้ผู้กู้ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องหาเงินมาจ่ายตามเงื่อนไขที่เจ้าหนี้กำหนด
โดนทวงหนี้ด้วยวิธีรุนแรง
หนึ่งในความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดของการกู้นอกระบบคือวิธีการทวงหนี้ที่รุนแรง เช่น การข่มขู่ คุกคาม การประจาน หรือใช้ความรุนแรงต่อผู้กู้และครอบครัว ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและอาจนำไปสู่ปัญหาทางอาญา
วิธีป้องกันกลโกงเงินกู้นอกระบบจากมิจฉาชีพ มีอะไรบ้าง?