คุณอยู่ที่

  • ทำไมต้อง CIMB Preferred
  • บริการเพื่อความมั่งคั่ง
  • บทความ
  • วิธีการเข้าร่วมเป็น CIMB Preferred
  • บริการช่วยเหลือสำหรับคุณ
  • ลิงค์ด่วน
CIMB Rewards Program
โปรโมชั่นและสิทธิพิเศษสำหรับคุณโดยเฉพาะ
กิจกรรมและสัมมนา
ค้นหาระดับความเสี่ยงในการลงทุนของคุณ
บริการทางการเงินและการลงทุน
2025 Outlook
มุมมองการลงทุนประจำเดือน
กองทุนแนะนำ
กองทุนรวม (Mutual Fund)
มุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนรายไตรมาส
Lifestyle
Structured Debenture
วางแผนทางการเงิน

สหรัฐฯ-จีนพักรบการค้าชั่วคราว 90 วัน หนุนตลาดโลกฟื้นคึกคัก

 

หลังจากสงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจอย่าง สหรัฐอเมริกาและจีน ยืดเยื้อมาหลายปีและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลก ล่าสุดทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าจะ “พักรบ” ชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน เพื่อลดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจและเปิดโอกาสให้มีการเจรจาเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น

 

แม้จะเป็นเพียงข้อตกลงระยะสั้น แต่การพักรบครั้งนี้เพียงพอที่จะ สร้างแรงบวกให้กับตลาดการเงินทั่วโลกอย่างชัดเจน ทั้งในด้านดัชนีหุ้น ค่าเงิน และความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ผันผวน

 

 

รายละเอียดข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน มีดังนี้

 

1.สหรัฐฯ ลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนจาก 145% เหลือ 30%

 

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ใช้นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยี เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้าน และสินค้าบริโภคบางประเภท เช่น เสื้อผ้า รองเท้า และของเล่น รวมกว่า 6,000 รายการ ภายใต้กลุ่มมาตรการ “Section 301”

 

การลดภาษีจากระดับสูงสุด 145% เหลือ 30% ในครั้งนี้ หมายความว่า ต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากจีนจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้รับผลดีโดยตรง เพราะจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าปลีกในประเทศ

 

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ทันที เช่น:

 

  • ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ที่นำเข้าส่วนประกอบจากจีน)
  • ธุรกิจค้าปลีกที่พึ่งพาสินค้าจากจีน เช่น Walmart, Amazon

 

กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่ต้องใช้ชิ้นส่วนจากจีนจำนวนมาก

 

2.จีนลดภาษีตอบโต้สินค้าสหรัฐฯ จาก 125% เหลือ 10%

 

ทางด้านจีนประกาศลดภาษีตอบโต้สินค้าจากสหรัฐฯ ที่เคยเก็บในอัตราสูงถึง 125% เหลือเพียง 10% ครอบคลุมสินค้าสำคัญของสหรัฐฯ เช่น:

 

  • ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพด (สินค้าเกษตรหลัก)
  • เนื้อวัว เนื้อหมู และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป
  • รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์
  • สินค้าเทคโนโลยี เช่น อุปกรณ์ IT, เซนเซอร์, และวงจรรวม

 

การลดภาษีครั้งนี้ถือเป็น ท่าทีสร้างสรรค์จากจีน ที่ต้องการฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้า และยังเป็นการช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากสงครามการค้า โดยเฉพาะในรัฐที่เป็นฐานเสียงของทรัมป์

 

นอกจากนี้ยังส่งผลให้ผู้บริโภคชาวจีนสามารถเข้าถึงสินค้าอเมริกันได้ในราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นตัวของการนำเข้าในระยะสั้น

 

3.จีนถอน "แร่หายาก" 7 รายการ ออกจากรายการควบคุมการส่งออก

 

หนึ่งในจุดเปราะบางที่สุดของสหรัฐฯ คือ การพึ่งพา “แร่หายาก” (Rare Earth Elements) จากจีน ซึ่งใช้ในการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น:

  • สมาร์ตโฟน แบตเตอรี่ ลิเธียม
  • อุปกรณ์ทหาร เช่น ระบบนำวิถี เรดาร์
  • ชิ้นส่วนในรถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานสะอาด
     

จีนถือครองกำลังการผลิตแร่หายากกว่า 80% ของโลก โดยเคยใช้มาตรการควบคุมการส่งออกเพื่อเป็น “ไพ่ต่อรอง” ในสงครามการค้า โดยในข้อตกลงนี้ จีนยอม ถอนแร่หายาก 7 รายการออกจากรายการควบคุมการส่งออก เช่น Neodymium, Dysprosium, Terbium, และ Lanthanum เพื่อเปิดทางให้บริษัทอเมริกันสามารถนำเข้าวัตถุดิบได้สะดวกมากขึ้น ลดแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าจีนต้องการหลีกเลี่ยงการถูกมองว่าใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ ซึ่งสร้างแรงกดดันจากประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ

 

4. ยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าอื่น ๆ

 

นอกเหนือจากภาษี ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงยกเลิกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ที่ใช้ตอบโต้กันก่อนหน้านี้ ได้แก่:

 

  • การจำกัดโควตาการนำเข้าสินค้าเฉพาะประเภท เช่น โควตานำเข้าข้าวสาลีจากสหรัฐฯ ของจีน
  • กฎระเบียบทางเทคนิคหรือสุขอนามัย ที่เข้มงวดจนทำให้สินค้าอีกฝ่ายไม่สามารถเข้าตลาดได้ เช่น การอ้างเรื่องมาตรฐานปลอดสารตกค้างของเนื้อวัว หรือการตรวจเข้มพิเศษในด่านศุลกากร
  • การจำกัดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีและโทรคมนาคม
  •  

การยกเลิกมาตรการเหล่านี้จะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถกลับมาทำการค้าระหว่างกันได้ใกล้เคียงภาวะปกติมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงข้อตกลงชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้กับการเจรจา ไม่ใช่การยกเลิกสงครามทางการค้าโดยสิ้นเชิง โดยฝั่งสหรัฐฯ ได้ออกมาเน้นย้ำว่า หากจีนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่มีความคืบหน้าใน 90 วันข้างหน้า มาตรการภาษีจะกลับมาถูกใช้อีกครั้ง แต่จะไม่เท่าเดิม

 

 

ผลกระทบและแนวโน้ม

 

หนึ่งในผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุดคือ การลดความเสี่ยงที่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโลก การที่ทั้งสองประเทศยินยอมถอยคนละก้าว และชะลอมาตรการภาษีที่รุนแรงลง ทำให้ตลาดผ่อนคลายลง นักลงทุนมีความมั่นใจในการวางแผนธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ในระยะสั้นจึงช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินโลกได้

 

ผลที่ตามมาอย่างเป็นรูปธรรม คือ ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นทันที โดยเฉพาะดัชนีที่เคยถูกกดดันจากข่าวความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ การฟื้นตัวนี้สะท้อนความเชื่อมั่นใหม่ของนักลงทุน ที่เริ่มมองว่าการเจรจาจะเป็นทางออกที่เกิดขึ้นได้จริง แทนที่จะเป็นความขัดแย้งแบบยืดเยื้อ

 

ในด้านอุตสาหกรรมเฉพาะ ข้อตกลงนี้ยังเป็นสัญญาณบวกอย่างยิ่งต่อภาคเทคโนโลยี โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ เนื่องจากจีนได้ยอมถอน “แร่หายาก” 7 รายการออกจากบัญชีควบคุมการส่งออก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของหลายอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) การปลดล็อกครั้งนี้ ช่วยให้ซัพพลายเชนของเทคโนโลยีสหรัฐฯ สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงด้านต้นทุนและการหยุดชะงักของสายการผลิต

 

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวยังช่วยลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในการเร่งลดดอกเบี้ยมากเกินไป เพราะว่า หากสถานการณ์ดีขึ้นจริง Fed จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างรอบคอบ ไม่จำเป็นต้องเร่งกระตุ้นแบบเร่งด่วน ซึ่งอาจลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพในระยะยาว

 

อย่างไรก็ดี แม้จะมีผลดีหลายด้าน แต่มี ความไม่แน่นอน หลายประเด็นที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม เพราะข้อตกลงนี้ไม่ใช่ "การแก้ไขปัญหาอย่างถาวร" แต่เป็นเพียงการซื้อเวลา 90 วันเท่านั้น หากการเจรจาในช่วงเวลานี้ไม่ประสบความสำเร็จ สหรัฐฯ อาจกลับมาใช้มาตรการภาษีในระดับที่สูงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ความไม่แน่นอนกลับมาในทันที ในแง่ของภาษี แม้จะมีการปรับลดลง แต่ระดับภาษีที่ยังคงอยู่ที่ 30% (จากเดิมสูงสุด 145%) ถือว่าสูงกว่าช่วงก่อนสงครามการค้า หมายความว่า ธุรกิจที่พึ่งพาการนำเข้าส่งออกยังคงเผชิญกับต้นทุนที่สูง และอาจไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่ ข้อตกลงนี้ยังไม่แตะต้องประเด็นเชิงลึกที่เป็น “แก่นแท้” ของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน เช่น ความมั่นคงทางเทคโนโลยี การแข่งขันด้าน AI และการตั้งกฎเกณฑ์การค้าระดับโลก ดังนั้น แม้ภายนอกจะดูสงบลง แต่รากฐานของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข และมีโอกาสจะกลับมาอีกในอนาคต

 

สุดท้าย ควรจับตาท่าทีของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งยังคงรักษาจุดยืนที่แข็งกร้าวอยู่ และมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีเลือกตั้ง นั่นหมายความว่า แม้จะมีข้อตกลง แต่ความเสี่ยงเชิงนโยบายจากฝั่งสหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยที่คาดเดาได้ยาก

 

คำแนะนำการลงทุน

 

สำหรับนักลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนหุ้นจีนในพอร์ต แนะนำปรับกลยุทธ์ คือ ปรับพอร์ตเชิงรุกบ้างบางส่วน เน้นธีมที่ได้ประโยชน์จากข้อตกลง เช่น เทคโนโลยี, การส่งออก เนื่องจากตลาดจีนมีโอกาสฟื้นระยะสั้นจากบรรยากาศที่ผ่อนคลายขึ้น หากถืออยู่แล้วแนะนำถือรอจังหวะและติดตามพัฒนาการการเจรจาทางการค้าอย่างใกล้ชิด

 

สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีสัดส่วนการลงทุนในจีนหรือลดสัดส่วนจีนไปก่อนหน้า หากสนใจลงทุนในหุ้นจีน แนะนำทยอยเข้าได้บ้าง แต่ยังไม่แนะนำเข้าเต็มตัว เพราะถึงแม้ภาพระยะสั้นดูสดใส แต่ข้อตกลงนี้ยัง “ชั่วคราว” มองว่ายังไม่ใช่จุดกลับตัวถาวร นักลงทุนควรรอความชัดเจนเพิ่มเติม ทั้งความคืบหน้าในเชิงนโยบายและสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีน

 

สำหรับนักลงทุนที่มีความกังวลต่อความผันผวน ยังคงสามารถทยอยลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยง และกระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้ที่เน้นกลยุทธ์ในการสร้างกระแสเงินสดได้ในจังหวะนี้เช่นกัน รวมถึงกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ

 

 

นักลงทุนที่สนใจลงทุนสามารถติดต่อเพื่อขอคำแนะนำการลงทุนได้ที่

  • ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ทุกสาขา
  • CIMB THAI Care Center โทร. 02 626 7777
  • LINE  Wealth & Preferred 

 

คำเตือน: ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยงและขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

จัดทำและตรวจสอบข้อมูลโดย

 

  • คุณลลิภัสร์ กมลปรียาพัฒน์ ปรึกษาการลงทุน Investment Strategist ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
  • คุณจิรไพบูลย์ รัตนภาณุรักษ์ (IP, FM, IA) ผู้อำนวยการที่ปรึกษาทางการเงิน Investment Strategist ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)