ตลาดอินเดียปรับขึ้น เกิดจากอะไร ควรทำยังไงต่อ?
เมื่อปลายเดือนกันยายน 2024 ดัชนี MSCI India ทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนปรับตัวลงกว่า 20% และทำจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม 2025 ท่ามกลางความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีน จากนั้นดัชนีร่วงอีกครั้งหลังประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ แต่ตั้งแต่ทำจุดต่ำสุดเมื่อเดือนมีนาคม ดัชนีได้ฟื้นตัวกว่า 14% จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ แม้เกิดความตึงเครียดระหว่างอินเดีย–ปากีสถาน เศรษฐกิจยังคงมีปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนตลาดหุ้นอินเดียต่อไป…
การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ
- สถานะการเจรจา: อินเดียเริ่มต้นเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐฯ ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการประกาศมาตรการภาษี โดยปัจจุบันมีการพูดคุยในประเด็นการลดภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ
- ข้อเสนอสำคัญ: เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม อินเดียเสนอภาษี 0% บนสินค้าบางประเภทตามปริมาณนำเข้าที่กำหนด เพื่อแลกกับการปรับปรุงมาตรการควบคุมคุณภาพสินค้าให้มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น
- ผลกระทบต่อ Sentiment: หากข้อตกลงสำเร็จ จะช่วยคลายความกังวลด้านภาษี และดึงดูดเงินลงทุนจากสหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดหุ้นอินเดียอีกครั้ง
ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
- คาดการณ์ GDP: แม้องค์กรสำคัญ เช่น IMF, Moody’s, S&P และ Fitch จะปรับลดการคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือ 6.2–6.4% แต่ธนาคารกลางอินเดียยังเป้าหมายที่การเติบโต 6.5%
- ผลกระทบจากภาษีที่ต่ำกว่า: อินเดียอาจถูกปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2568 จากนโยบายภาษีศุลกากร แต่ยังคงสัดส่วนที่ต่ำสวนทางกับประเทศอื่น ๆ ที่ถูกปรับลงในระดับสูงกว่า เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับ GDP ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ
- แรงขับเคลื่อนหลัก: การบริโภคภาคเอกชนที่เข้มแข็ง ชนชั้นกลางขยายตัวต่อเนื่อง และประชากรวัยทำงานกว่า 68% ของประชากรทั้งหมด จะช่วยหนุนการใช้จ่ายภายในประเทศให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ เมื่อวัดตามความเท่าเทียมของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity) อินเดียจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก
- เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย: เงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงซึ่งมาจากราคาอาหารที่ปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี หนุนให้ธนาคารกลางอินเดียลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 6.0% โดยคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอินเดียจะลดดอกเบี้ยนโยบายอีกราว 0.25%-1.00% ในปี 2025 เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ
ภาคการผลิตและการใช้จ่ายภาครัฐ
- ดัชนี PMI: ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของอินเดียยังคงอยู่ในพื้นที่ขยายตัว ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มชะลอตัว
- ผลตอบแทนจากการย้ายฐานการผลิต: บริษัทหลายแห่งประกาศย้ายห่วงโซ่อุปทานจากจีนมายังอินเดีย ส่งผลให้การจ้างงานและการผลิตภายในประเทศขยายตัว โดยเบื้องต้นทาง Apple กำลังเร่งย้ายฐานการผลิตจากจีนสู่อินเดีย ซึ่ง Iphone ส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในสหรัฐฯจะมาจากการผลิตในอินเดีย เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการค้า
- การขาดดุลทางการคลัง: การลดลงของการขาดดุลทางการคลังจากระดับ 6.4% ต่อ GDP ในปี 2023 เหลือ 5.6% ในปี 2024 และก้าวสู่ 4.8% ในปี 2025 เป็นการลดลงที่ “คุณภาพดี” เนื่องจากการลดสัดส่วนขาดดุลงบประมาณมาจาก “การขยายรายรับ” เป็นหลัก ควบคู่กับ “การควบคุมค่าใช้จ่ายประจำ” อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ยังรักษาการลงทุนระยะยาวให้เติบโต จึงถือเป็นการขาดดุลที่มีคุณภาพสูง ไม่ใช่การตัดงบลงทุนเพื่อประคับประคองตัวเลขเท่านั้น
ยอดส่งออกและข้อตกลงการค้าใหม่
- สัดส่วนส่งออก: อินเดียส่งออกสินค้าและบริการคิดเป็น 22% ของ GDP โดยปีงบประมาณ 2024–25 มีมูลค่ารวมประมาณ 8.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรัฐบาลตั้งเป้าสร้างยอดส่งออกให้ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030
- ข้อตกลงกับสหราชอาณาจักร: เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม อินเดียบรรลุข้อตกลงการค้า คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันอีก 34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลดภาษีให้กับสินค้าประมาณ 90% ของรายการภาษีทั้งหมดและจะลดภาษีจนถึงระดับ 0% ภายใน 10 ปี
มุมมองเชิงมูลค่าและผลประกอบการ
- มูลค่าหุ้น (Valuation): โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 8 พฤษภาคม ดัชนี MSCI INDIA มี PE อยู่ที่ 24.6 เท่า ซึ่งมูลค่าหุ้นยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ PE 25 เท่า เล็กน้อย ทำให้มูลค่าหุ้นในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง หลังการปรับฐานลงอย่างรุนแรงมูลค่าของหุ้นอินเดียจึงดูน่าสนใจกว่าในอดีต อย่างไรก็ดี แม้ระดับ Valuation ณ ปัจจุบันอาจต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต แต่ยังคงสูงกว่ากลุ่ม APAC รวมถึงจีนที่มี PE Ratio ต่ำกว่า 20 เท่า ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวังจากการประเมินเชิงเปรียบเทียบ
- ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (Earnings, EPS): โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 8 พฤษภาคม ดัชนี MSCI INDIA มีการคาดการณ์ EPS เติบโตที่ 10.59% ในปี 2025 ซึ่งหลังสหรัฐฯ ประกาศ Reciprocal Tariffs 10% อินเดียถูกปรับประมาณการขึ้น สะท้อนว่าทิศทางผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นอินเดียได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ โดยบริษัทรายใหญ่ในตลาดยังแสดงผลกำไรที่เติบโต แม้บางภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น
ความเสี่ยงและประเด็นที่ต้องติดตาม
- เจรจาการค้าชะลอหรือล่าช้า: หากการเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐฯ ไม่บรรลุข้อตกลงในระยะเวลาอันใกล้ อาจทำให้ตลาดมีความกังวลด้านภาษีศุลกากรมากขึ้น
- ความตึงเครียดระหว่างอินเดีย–ปากีสถาน: เหตุมาตรการตอบโต้กันอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี อาจกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนหากเกิดการเผชิญหน้าครั้งใหม่
- ภาวะเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า: การชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักทั่วโลก หรือความบาดหมางระหว่างจีน–สหรัฐฯ ระลอกใหม่ อาจทำให้เงินทุนไหลออกจากเอเชียไปยังตลาดหรือสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
- ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2025: โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 13 พฤษภาคม ตลาดหุ้นอินเดียประกาศผลประกอบการออกมา 811 จาก 4,791 บริษัทหรือ 16.9% ซึ่งมีการเติบโตในเชิงบวกราว 55% จากที่ประกาศออกมาทั้งหมด ภาพรวมผลประกอบการค่อนข้างดีจากข้อมูลเบื้องต้นสะท้อนถึงกำไรที่เติบโตได้ดีในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ชะลอตัวในธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า
- การประเมินมูลค่าตลาด: ฤดูกาลประกาศผลประกอบการกลางเดือนพฤษภาคมจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับการประเมินมูลค่าตลาดของอินเดีย แม้มูลค่าตลาดจะอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาค แต่การเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่งจะทำให้ระดับมูลค่าตลาด ณ ปัจจุบันอยู่ในจุดที่ “สมเหตุสมผล” โดย MSCI India ซื้อขายที่ระดับมูลค่า ราว 24.6 เท่า การให้มูลค่าพรีเมียมดังกล่าวมีเหตุผลรองรับจากการเติบโตของกำไรในระดับสูง EPS CAGR 11-15% ถึงปี 2026 จึงยังพอสนับสนุนมูลค่าพรีเมียมในช่วงมูลค่าตลาดราว 23-28 เท่า สำหรับระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า
แม้จะเผชิญกับความผันผวนและข่าวลบหลายช่วง ตลาดหุ้นอินเดียยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั้งด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประชากรวัยทำงาน และการเปิดเสรีทางการค้า ทำให้ดัชนี MSCI India มีโอกาสกลับไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมและทำจุดสูงสุดใหม่ในระยะถัดไป เมื่อแรงกดดันชั่วคราวต่าง ๆ นั้นได้คลี่คลายลง…