You Are In

  • Why Us
  • Wealth Solutions
  • Market Perspective
  • How to become CIMB Preferred
  • Help & Support
  • Quicklink
CIMB Rewards Program
Preferred Promotions
Events and Seminars
Know Your Risk Appetite
Wealth Solution Products
2025 Outlook
Monthly Investment
Highlighted Fund
Mutual Fund
Quarterly Outlook
Lifestyle
Structured Debenture
Financial Planning

มุมมองการลงทุนในจีน ไตรมาส 2 ปี 2025 

 

 

เศรษฐกิจจีนมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจจีนย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านภาษี ในช่วงต้นปี 2025 จีนได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อฟื้นตัวจากภาวะชะลอตัวที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ย การสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และการเพิ่มการลงทุนภาครัฐ

 

ภาพรวมเศรษฐกิจจีนเศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญกับความท้าทายจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และแรงกดดันจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังคงเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการลดภาษีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและการเร่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการเติบโตของ GDP ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 5% ในปี 2025 โดย GDP จีนในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวที่ 5.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า แต่ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยการเติบโตในเดือนมีนาคมเป็นแรงหนุนสำคัญ หลังรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการใช้จ่ายภาครัฐและโครงการสนับสนุนการบริโภค แม้ตัวเลขรายปีดูแข็งแกร่ง แต่เมื่อพิจารณาแบบปรับฤดูกาลการเติบโต GDP กลับชะลอลงจาก 1.6% เหลือ 1.2% ซึ่งสะท้อนผลกระทบจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่ซบเซาในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ โดยมีเพียงเดือนมีนาคมที่ช่วยดึงตัวเลขขึ้น

 

ตลาดหุ้นและแนวโน้มการลงทุนตลาดหุ้นจีนมีความผันผวนในช่วงต้นปี 2025 โดยดัชนี Hang Seng China Enterprises Index (HSCEI) ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด นักลงทุนยังคงจับตาการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางจีน (PBOC) ที่อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน การลงทุนภาคอุตสาหกรรม

 

  • เทคโนโลยีและ AI: รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI และเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีการเพิ่มงบประมาณวิจัยและสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติ โดย Bloomberg คาดว่าสัดส่วนของภาคเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทมากขึ้นต่ออัตราส่วนของ GDP จีนถึงระดับ 18.3% ในปี 2026
  • พลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า (EV): การลงทุนในภาคพลังงานสะอาดยังคงเติบโต โดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรี่และพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
  • อสังหาริมทรัพย์: แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น การลดข้อจำกัดด้านสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ

 

 

จีนยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ และข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม จีนได้เร่งขยายตลาดการค้ากับประเทศในเอเชียและตะวันออกกลาง รวมถึงการผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

โดยก่อนหน้านี้ ทางสหรัฐฯ มีการประกาศเก็บภาษีศุลกากรกับจีนไปแล้ว 20% และในเดือนเมษายนได้ประกาศว่าจะเก็บเพิ่มขึ้นอีก 34% หลังจากนั้นมีการตอบโต้จากจีน สหรัฐฯ จึงขึ้นภาษีไปจนถึงระดับ 145% โดยจีนได้มีการตอบโต้กลับทางสหรัฐฯ เพิ่มเติมอีกเช่นกัน โดยขึ้นภาษีศุลกากรไปจนถึงระดับ 125% รวมถึงการจำกัดการส่งออกแร่หายากไปสู่สหรัฐฯ และประกาศระงับการนำเข้าเนื้อไก่จากผู้ส่งออกการเกษตรบางรายของสหรัฐฯ

 

สงครามการค้าที่เข้มงวดจะกดดันยอดการส่งออกและผลกำไรของบริษัทจีนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อลดการพึ่งพิงตลาดส่งออกในบางส่วน ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าได้ในระดับหนึ่ง นักลงทุนจึงจำเป็นต้องติดตามนโยบายการค้าระหว่างประเทศและการเจรจาทางการทูตที่อาจมีผลต่อการปรับเปลี่ยนมาตรการในอนาคต

 

สำหรับดัชนีหุ้นหลักอย่าง Hang Seng China Enterprises Index (HSCEI) และ Shanghai Shenzhen CSI 300 Index (CSI300) การปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อจีนอาจส่งผลให้บริษัทที่มีการส่งออกสินค้าส่วนใหญ่สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดหรือกำไรจากยอดขายในต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อ Earnings Per Share (EPS) โดยตรง

 

  • โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 3 เมษายน HSCEI ซึ่งเป็นดัชนีแหล่งระดุมทุนจากต่างชาติที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมหลักอย่างภาคการเงินและเทคโนโลยี มีการคาดการณ์ EPS เติบโตที่ 6.2% ในปี 2025 ซึ่งถูกปรับลดประมาณการลงเล็กน้อยจาก 6.5%
  • สำหรับดัชนี CSI300 ที่รวบรวมบริษัทในจีนแผ่นดินใหญ่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมหลักอย่างภาคการเงิน อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมและสุขภาพ มีการคาดการณ์ EPS เติบโตที่ 16.1% ในปี 2025 ซึ่งถูกปรับเพิ่มประมาณการขึ้นเล็กน้อยจาก 15.9%
  • แต่ที่โดดเด่นเป็นอย่างมากคือกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง โดยตัวแทนคือดัชนี HSTECH มีการคาดการณ์ EPS เติบโตที่ระดับ 29% ในปี 2025

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจึงควรจับตาดูการรายงานผลประกอบการและแนวโน้มการปรับตัวของ EPS ในดัชนีเหล่านี้ เพื่อประเมินว่ามาตรการภาษีศุลกากรจะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมากน้อยเพียงใด โดยปัจจุบันยังไม่มีการออกมาปรับลดประมาณการณ์ EPS จากนักวิเคราะห์อย่างมีนัยสำคัญ

 

ในสภาวะที่เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวพร้อมกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การให้ความสำคัญกับการประเมินมูลค่าของหุ้นและสินทรัพย์ในตลาดจีน โดยใช้ตัวชี้วัดเช่น P/E Ratio ในการเปรียบเทียบความน่าสนใจของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดจีนและตลาดฮ่องกง

 

 

  • โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 3 เมษายน HSCEI มี forward PE อยู่ที่ 9.7 เท่า ซึ่งมูลค่าหุ้นอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ PE 9 เท่า โดยสูงกว่าราว +1 S.D. ทำให้มูลค่าหุ้นในปัจจุบันมีความตึงตัวค่อนข้างสูง
  • สำหรับดัชนี CSI300 มี forward PE อยู่ที่ 12.7 เท่า ซึ่งมูลค่าหุ้นอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ PE 12.4 เท่า โดยสูงกว่าเพียงเล็กน้อยราว +0.2 S.D. ซึ่งมูลค่าหุ้นในปัจจุบันยังไม่ได้ตอบรับกับการคาดการณ์การเติบโตของกำไรอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนและกำไรของบริษัทยังไม่ได้กลับมาเติบโตอย่างเห็นได้ชัดดังเช่นภาคเทคโนโลยี
  • และในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง โดยตัวแทนคือดัชนี HSTECH มี forward PE อยู่ที่ 19.3 เท่า ซึ่งมูลค่าหุ้นอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ PE 24.4 เท่า โดยต่ำกว่าราว -0.5 S.D. ซึ่งหากการเติบโตของกำไรในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีทำได้ตามเป้าหมาย การเติบโตของมูลค่าหุ้นกลับไปที่ PE 24.4 เท่า ทั้งนี้ก็ยังมีโอกาสสำหรับการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นอยู่ ซึ่งการที่กำไรของภาคเทคโนโลยีจีนกลับมาเติบโตได้นั้นมาจากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวและการสนับสนุนด้านกฎระเบียบและนโยบายต่างๆจากรัฐบาลจีน ยังส่งผลให้มุมมองด้าน valuation ในตลาดจีนค่อย ๆ ดีขึ้นตามมาด้วย

 

แนวโน้มการลงทุนในอนาคตของจีน นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับภาคเทคโนโลยี พลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ในขณะเดียวกันควรติดตามนโยบายเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด รวมถึงแนวโน้มความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและประเทศคู่ค้าเพื่อประเมินความเสี่ยงในการลงทุน เพราะความไม่แน่นอนคือความแน่นอนเดียวที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยในปี 2025…

 

นักลงทุนที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อขอคำแนะนำการลงทุน หรือ ขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่

  • ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ทุกสาขา
  • CIMB THAI Care Center โทร. 02 626 7777
  • LINE Wealth & Preferred

 

คำเตือน: ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยงและขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

จัดทำข้อมูล และตรวจสอบข้อมูลโดย

 

  • คุณนนทกร งามสุนทรานันท์ ปรึกษาการลงทุน Investment Strategist ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
  • คุณจิรไพบูลย์ รัตนภาณุรักษ์ (IP, FM, IA) ผู้อำนวยการที่ปรึกษาทางการเงิน Investment Strategist ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)