คุณอยู่ที่

  • ทำไมต้อง CIMB Preferred
  • บริการเพื่อความมั่งคั่ง
  • บทความ
  • วิธีการเข้าร่วมเป็น CIMB Preferred
  • บริการช่วยเหลือสำหรับคุณ
  • ลิงค์ด่วน
CIMB Rewards Program
โปรโมชั่นและสิทธิพิเศษสำหรับคุณโดยเฉพาะ
กิจกรรมและสัมมนา
ค้นหาระดับความเสี่ยงในการลงทุนของคุณ
บริการทางการเงินและการลงทุน
2025 Outlook
มุมมองการลงทุนประจำเดือน
กองทุนแนะนำ
กองทุนรวม (Mutual Fund)
มุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนรายไตรมาส
Lifestyle
Structured Debenture
วางแผนทางการเงิน

มุมมองการลงทุนในจีน ไตรมาส 2 ปี 2025 

 

 

เศรษฐกิจจีนมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจจีนย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านภาษี ในช่วงต้นปี 2025 จีนได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อฟื้นตัวจากภาวะชะลอตัวที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ย การสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และการเพิ่มการลงทุนภาครัฐ

 

ภาพรวมเศรษฐกิจจีนเศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญกับความท้าทายจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และแรงกดดันจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังคงเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการลดภาษีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและการเร่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการเติบโตของ GDP ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 5% ในปี 2025 โดย GDP จีนในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวที่ 5.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า แต่ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยการเติบโตในเดือนมีนาคมเป็นแรงหนุนสำคัญ หลังรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการใช้จ่ายภาครัฐและโครงการสนับสนุนการบริโภค แม้ตัวเลขรายปีดูแข็งแกร่ง แต่เมื่อพิจารณาแบบปรับฤดูกาลการเติบโต GDP กลับชะลอลงจาก 1.6% เหลือ 1.2% ซึ่งสะท้อนผลกระทบจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่ซบเซาในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ โดยมีเพียงเดือนมีนาคมที่ช่วยดึงตัวเลขขึ้น

 

ตลาดหุ้นและแนวโน้มการลงทุนตลาดหุ้นจีนมีความผันผวนในช่วงต้นปี 2025 โดยดัชนี Hang Seng China Enterprises Index (HSCEI) ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด นักลงทุนยังคงจับตาการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางจีน (PBOC) ที่อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน การลงทุนภาคอุตสาหกรรม

 

  • เทคโนโลยีและ AI: รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI และเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีการเพิ่มงบประมาณวิจัยและสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติ โดย Bloomberg คาดว่าสัดส่วนของภาคเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทมากขึ้นต่ออัตราส่วนของ GDP จีนถึงระดับ 18.3% ในปี 2026
  • พลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า (EV): การลงทุนในภาคพลังงานสะอาดยังคงเติบโต โดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรี่และพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
  • อสังหาริมทรัพย์: แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น การลดข้อจำกัดด้านสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ

 

 

จีนยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ และข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม จีนได้เร่งขยายตลาดการค้ากับประเทศในเอเชียและตะวันออกกลาง รวมถึงการผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

โดยก่อนหน้านี้ ทางสหรัฐฯ มีการประกาศเก็บภาษีศุลกากรกับจีนไปแล้ว 20% และในเดือนเมษายนได้ประกาศว่าจะเก็บเพิ่มขึ้นอีก 34% หลังจากนั้นมีการตอบโต้จากจีน สหรัฐฯ จึงขึ้นภาษีไปจนถึงระดับ 145% โดยจีนได้มีการตอบโต้กลับทางสหรัฐฯ เพิ่มเติมอีกเช่นกัน โดยขึ้นภาษีศุลกากรไปจนถึงระดับ 125% รวมถึงการจำกัดการส่งออกแร่หายากไปสู่สหรัฐฯ และประกาศระงับการนำเข้าเนื้อไก่จากผู้ส่งออกการเกษตรบางรายของสหรัฐฯ

 

สงครามการค้าที่เข้มงวดจะกดดันยอดการส่งออกและผลกำไรของบริษัทจีนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อลดการพึ่งพิงตลาดส่งออกในบางส่วน ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าได้ในระดับหนึ่ง นักลงทุนจึงจำเป็นต้องติดตามนโยบายการค้าระหว่างประเทศและการเจรจาทางการทูตที่อาจมีผลต่อการปรับเปลี่ยนมาตรการในอนาคต

 

สำหรับดัชนีหุ้นหลักอย่าง Hang Seng China Enterprises Index (HSCEI) และ Shanghai Shenzhen CSI 300 Index (CSI300) การปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อจีนอาจส่งผลให้บริษัทที่มีการส่งออกสินค้าส่วนใหญ่สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดหรือกำไรจากยอดขายในต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อ Earnings Per Share (EPS) โดยตรง

 

  • โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 3 เมษายน HSCEI ซึ่งเป็นดัชนีแหล่งระดุมทุนจากต่างชาติที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมหลักอย่างภาคการเงินและเทคโนโลยี มีการคาดการณ์ EPS เติบโตที่ 6.2% ในปี 2025 ซึ่งถูกปรับลดประมาณการลงเล็กน้อยจาก 6.5%
  • สำหรับดัชนี CSI300 ที่รวบรวมบริษัทในจีนแผ่นดินใหญ่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมหลักอย่างภาคการเงิน อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมและสุขภาพ มีการคาดการณ์ EPS เติบโตที่ 16.1% ในปี 2025 ซึ่งถูกปรับเพิ่มประมาณการขึ้นเล็กน้อยจาก 15.9%
  • แต่ที่โดดเด่นเป็นอย่างมากคือกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง โดยตัวแทนคือดัชนี HSTECH มีการคาดการณ์ EPS เติบโตที่ระดับ 29% ในปี 2025

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจึงควรจับตาดูการรายงานผลประกอบการและแนวโน้มการปรับตัวของ EPS ในดัชนีเหล่านี้ เพื่อประเมินว่ามาตรการภาษีศุลกากรจะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมากน้อยเพียงใด โดยปัจจุบันยังไม่มีการออกมาปรับลดประมาณการณ์ EPS จากนักวิเคราะห์อย่างมีนัยสำคัญ

 

ในสภาวะที่เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวพร้อมกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การให้ความสำคัญกับการประเมินมูลค่าของหุ้นและสินทรัพย์ในตลาดจีน โดยใช้ตัวชี้วัดเช่น P/E Ratio ในการเปรียบเทียบความน่าสนใจของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดจีนและตลาดฮ่องกง

 

 

  • โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 3 เมษายน HSCEI มี forward PE อยู่ที่ 9.7 เท่า ซึ่งมูลค่าหุ้นอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ PE 9 เท่า โดยสูงกว่าราว +1 S.D. ทำให้มูลค่าหุ้นในปัจจุบันมีความตึงตัวค่อนข้างสูง
  • สำหรับดัชนี CSI300 มี forward PE อยู่ที่ 12.7 เท่า ซึ่งมูลค่าหุ้นอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ PE 12.4 เท่า โดยสูงกว่าเพียงเล็กน้อยราว +0.2 S.D. ซึ่งมูลค่าหุ้นในปัจจุบันยังไม่ได้ตอบรับกับการคาดการณ์การเติบโตของกำไรอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนและกำไรของบริษัทยังไม่ได้กลับมาเติบโตอย่างเห็นได้ชัดดังเช่นภาคเทคโนโลยี
  • และในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง โดยตัวแทนคือดัชนี HSTECH มี forward PE อยู่ที่ 19.3 เท่า ซึ่งมูลค่าหุ้นอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ PE 24.4 เท่า โดยต่ำกว่าราว -0.5 S.D. ซึ่งหากการเติบโตของกำไรในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีทำได้ตามเป้าหมาย การเติบโตของมูลค่าหุ้นกลับไปที่ PE 24.4 เท่า ทั้งนี้ก็ยังมีโอกาสสำหรับการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นอยู่ ซึ่งการที่กำไรของภาคเทคโนโลยีจีนกลับมาเติบโตได้นั้นมาจากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวและการสนับสนุนด้านกฎระเบียบและนโยบายต่างๆจากรัฐบาลจีน ยังส่งผลให้มุมมองด้าน valuation ในตลาดจีนค่อย ๆ ดีขึ้นตามมาด้วย

 

แนวโน้มการลงทุนในอนาคตของจีน นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับภาคเทคโนโลยี พลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ในขณะเดียวกันควรติดตามนโยบายเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด รวมถึงแนวโน้มความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและประเทศคู่ค้าเพื่อประเมินความเสี่ยงในการลงทุน เพราะความไม่แน่นอนคือความแน่นอนเดียวที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยในปี 2025…

 

นักลงทุนที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อขอคำแนะนำการลงทุน หรือ ขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่

  • ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ทุกสาขา
  • CIMB THAI Care Center โทร. 02 626 7777
  • LINE Wealth & Preferred

 

คำเตือน: ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยงและขอคำแนะนำเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

จัดทำข้อมูล และตรวจสอบข้อมูลโดย

 

  • คุณนนทกร งามสุนทรานันท์ ปรึกษาการลงทุน Investment Strategist ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
  • คุณจิรไพบูลย์ รัตนภาณุรักษ์ (IP, FM, IA) ผู้อำนวยการที่ปรึกษาทางการเงิน Investment Strategist ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)