คุณอยู่ที่

  • ทำไมต้อง CIMB Preferred
  • บริการเพื่อความมั่งคั่ง
  • บทความ
  • วิธีการเข้าร่วมเป็น CIMB Preferred
  • บริการช่วยเหลือสำหรับคุณ
  • ลิงค์ด่วน
CIMB Rewards Program
โปรโมชั่นและสิทธิพิเศษสำหรับคุณโดยเฉพาะ
กิจกรรมและสัมมนา
ค้นหาระดับความเสี่ยงในการลงทุนของคุณ
บริการทางการเงินและการลงทุน
2025 Outlook
มุมมองการลงทุนประจำเดือน
กองทุนแนะนำ
กองทุนรวม (Mutual Fund)
มุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนรายไตรมาส
Lifestyle
Structured Debenture
วางแผนทางการเงิน

โลกกำลังเผชิญแรงกดดันจากภาวะอุปสงค์ที่อ่อนแอลง

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การเติบโต GDP โลกเหลือ 2.8% และ 3.0% สำหรับปี 2025 และ 2026 ตามลำดับ จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.3% โดยอัตราที่ปรับใหม่นี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต (ช่วงปี 2000-2019) ซึ่งอยู่ที่ 3.7% อย่างเห็นได้ชัด เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศตลาดเกิดใหม่/กำลังพัฒนาก็ถูกปรับลดคาดการณ์เช่นกัน โดยคาดว่าจะเติบโตเพียง 1.4% และ 3.7% ในปี 2025 จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 1.9% และ 4.2% ตามลำดับ ในด้านเงินเฟ้อ คาดการณ์ว่าระดับเงินเฟ้อทั่วโลกจะชะลอลงเหลือ 4.2% และ 3.6% สำหรับปี 2025 และ 2026 ตามลำดับ ขณะที่แนวโน้มการค้าโลกก็ไม่สดใสนัก โดยคาดว่าการเติบโตของปริมาณการค้าโลกจะลดลงเหลือเพียง 1.7% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.8% อันเป็นผลจากมาตรการทางภาษีศุลกากรที่เพิ่มสูงขึ้น

 

การขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์สมัยที่สองทำให้ความร่วมมือพหุภาคีถูกกดดันอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระแสโลกาภิวัตน์ นำไปสู่การกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก (Supply Chain Fragmentation) และการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในเชิงโครงสร้าง นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ในด้านความขัดแย้งระหว่างประเทศ การค้า การจัดเก็บภาษี งบประมาณขาดดุล และนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติ ล้วนมีแนวโน้มที่จะเป็นปัจจัยก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกตลอดปี 2025 อย่างไรก็ตาม ความผันผวนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอาจเปิดโอกาสในการลงทุนที่น่าสนใจในหลากหลายประเภทสินทรัพย์ สำหรับนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญและสามารถวางกลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสม

 

 

 

ในปี 2024 ธนาคารกลางสหรัฐ ฯ (FED) ได้ดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 100 bps ล่วงหน้า (Front-loaded Rate Cuts) ก่อนจะตัดสินใจ “คงอัตราดอกเบี้ย” ในการประชุมคณะกรรมการ FOMC เดือนมีนาคมที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังของ FED สะท้อนจากเศรษฐกิจสหรัฐ ฯ ที่ยังมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่ทรงตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ FED สามารถชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ต่างจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในช่วงหลังของปี 2024 จาก Dot Plot ล่าสุด คาดการณ์ว่า FED จะปรับลดดอกเบี้ยรวม 50 bps ในปี 2025 ขณะที่ตลาดมีมุมมองเชิงรุกมากกว่า โดยคาดการณ์การลดดอกเบี้ยรวม 100 bps ท่ามกลางความเสี่ยงจากมาตรการภาษีนำเข้าที่อาจกระทบต่ออุปสงค์ในเศรษฐกิจโลก ด้านประมาณการเศรษฐกิจ FED คาดว่า GDP ของสหรัฐฯ จะเติบโตที่ 1.7% และ 1.8% ในปี 2025 และ 2026 ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ในปี 2025 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 2.8% ซึ่งสะท้อนแรงกดดันด้านราคาที่ยังไม่คลี่คลายอย่างเต็มที่

 

ตลาดยังไม่คาดการณ์ว่า FED จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมก่อนเดือนมิถุนายน เนื่องจาก FED อยู่ในโหมด “เฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์” (Wait and See) ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มกระตุ้นเงินเฟ้อ (Reflationary Policies) ให้สูงขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะตั้งเป้าเงินเฟ้อที่ระดับ 2% แต่คาดการณ์ปัจจุบันชี้ว่า Core PCE จะทยอยลดลงจนแตะเป้าหมายได้ภายในปี 2027 เท่านั้น ก่อนหน้านี้ประธาน FED นายเจอโรม พาวเวลล์ หลีกเลี่ยงการกล่าวถึงความเสี่ยงจากนโยบายการคลังต่อเป้าหมายเงินเฟ้อ จนกว่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพาวเวลล์ออกแถลงการณ์สาธารณะเกี่ยวกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ ทั้งนี้ FED ได้สื่อสารว่ารอบการปรับลดดอกเบี้ยในปัจจุบันเป็นเพียงการ “ปรับจูน (Recalibration)” นโยบายให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจใหม่ มิใช่การตอบสนองต่อภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรง หรือปัญหาในตลาดแรงงาน

 

การปรับลดกำลังแรงงานภาครัฐของสหรัฐฯ ทั้งที่ดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างแผนดำเนินการ ขณะนี้มีจำนวนรวมกว่า 216,000 ตำแหน่ง โดยมีพนักงานอีกราว 75,000 ราย ที่ตอบรับข้อเสนอ "ลาออกโดยสมัครใจพร้อมเงินชดเชย" (Voluntary Buyout) การลดกำลังคนครั้งนี้ส่งแรงกระเพื่อมเข้าสู่ตลาดแรงงานที่เปราะบางอยู่แล้ว โดยรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีพนักงานรวมราว 2.4 ล้านคน (ไม่รวมไปรษณีย์) คิดเป็น 1.9% ของแรงงานภาคพลเรือนทั้งหมด ซึ่งหากดำเนินการครบตามแผน อาจกลายเป็นการลดตำแหน่งงานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ตัวชี้วัดเศรษฐกิจชั้นนำของสหรัฐฯ แสดงสัญญาณถดถอยท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอัตราการว่างงานและเงินเฟ้อ นโยบายภาษีการค้ายังคงไม่นิ่ง แม้จะมีการประกาศระงับการขึ้นภาษีศุลกากรแบบต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) เป็นเวลา 90 วัน สำหรับทุกประเทศยกเว้นจีน แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดได้ เนื่องจากภาษีสินค้าสำคัญอย่างรถยนต์ เหล็ก และภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff) 10% ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ แม้ในกรณีที่สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีการค้าทั้งหมดในทันที นักวิเคราะห์ยังคาดว่าผลกระทบสะสมจากมาตรการภาษีที่ผ่านมาก็ยังคงอยู่ โดยคาดว่าจะฉุดให้ GDP สหรัฐฯ หดตัวลงประมาณ 1%

                                                            

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลักทั้ง 3 ประเภทลงอีก 25 bps เพื่อตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ก่อนหน้านี้ ECB ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ยูโรโซนลงเหลือ 0.9% ในปี 2025 และ 1.2% ในปี 2026 สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวที่อ่อนแรงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ECB ได้ยุติการนำเงินต้นจากพันธบัตรที่ครบกำหนดในโครงการ Asset Purchase Program (APP) และ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) กลับมาลงทุนใหม่ (Reinvestment) ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนจุดยืนเชิงนโยบายอย่างชัดเจน โดยรวม ECB กำลังดำเนินท่าทีเชิงรุกในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (Aggressive Easing Pivot) เพื่อประคับประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญ

                                                                                                               

ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) นายแอนดรูว์ เบลีย์ ส่งสัญญาณเร่งกระบวนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดย BOE ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps เหลือ 4.5% ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ BOE ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของ GDP ปี 2025 ลงอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิม 1.5% เหลือเพียง 0.75% สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแรงต่อเนื่อง ตลาดคาดว่า BOE จะดำเนินการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 2 ครั้งภายในปี 2025 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ด้านเงินเฟ้อ ตัวเลข Headline CPI และ Core CPI เดือนมีนาคมอยู่ที่ 2.6% และ 3.4% ตามลำดับ โดยแรงกดดันด้านราคาลดลงจากราคาพลังงานที่อ่อนตัว และราคาอาหารที่ทรงตัว BOE ยังคงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ในระยะกลาง

 

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps ในเดือนมกราคมสู่ระดับ 0.5% ด้วยมติ 8 ต่อ 1 ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี หลังจากที่ก่อนหน้านี้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในการประชุมเดือนธันวาคม อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นยังคงอยู่เหนือระดับเป้าหมาย 2% อย่างต่อเนื่อง ตลาดคาดว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม สูงสุดที่ 50 bps ภายในปี 2025 อย่างไรก็ตาม BOJ ยังมีความยืดหยุ่นในการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากนโยบายภาษีการค้าเริ่มส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อด้าน เศรษฐกิจจีนปิดปี 2024 ด้วยความแข็งแกร่งเกินคาด เนื่องจากไตรมาสโดย GDP ไตรมาส 4 ขยายตัว 5.4%YoY และยังคงรักษาโมเมนตัมดังกล่าวในไตรมาสแรกของปี 2025 ด้วยอัตราเติบโต 5.4% เช่นกัน

 

ขณะที่เศรษฐกิจอินเดีย ถูกปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2024 ลงเหลือ 6.5% จากเดิมที่เติบโต 8.2% ในปี 2023 โดยสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาครัฐ ดัชนีหุ้นหลักของอินเดียยังคง ต่ำกว่าจุดสูงสุดตลอดกาลราว 6% ความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของกำไรภาคเอกชนและการบริโภค ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเพื่อล็อกกำไร อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเพิ่มงบประมาณภาครัฐและมาตรการลดภาษีในปีงบประมาณถัดไปช่วยสร้างความเชื่อมั่นเชิงบวกกลับคืนสู่ตลาด

 

หุ้นโลก: ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นในช่วงต้นจากความหวังเชิงบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ความเชื่อมั่นกลับเริ่มแผ่วลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายของ FED ต้องเผชิญอุปสรรคใหม่จากนโยบายภาษีการค้า และแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังไม่คลี่คลาย ตลาดยังคงคาดว่า กำไรต่อหุ้น (EPS)  ของดัชนี S&P 500 จะเติบโต 12% ในปี 2025 ซึ่งแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากประมาณการเมื่อปลายปี 2024 อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าสนใจคือ ช่องว่างการเติบโตของกำไรระหว่างกลุ่ม Mag-7 และหุ้นกลุ่มอื่น เริ่มแคบลงอย่างชัดเจน ตลาดคาดกำไรกลุ่ม Mag-7 (บริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ 7 แห่ง) จะเติบโตที่ 13% ในปี 2025 ลดลงจาก 40% ในปี 2024 ขณะที่หุ้นอีก 493 ตัวใน S&P 500 คาดว่าจะมีกำไรเติบโต 9% เพิ่มขึ้นจากเพียง 4% ในปี 2024 การชะลอตัวของกำไรในกลุ่ม Mag-7 อาจนำไปสู่การ ลดระดับมูลค่าหุ้น (valuation de-rating) และเร่งให้เกิดการ หมุนเวียนการลงทุน (rotation) เข้าสู่หุ้นนอกกลุ่ม Mag-7 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากผลกระทบของภาษีการค้ายัง ไม่สะท้อนอยู่ในประมาณการกำไรในปัจจุบัน หากไม่มีการยกเลิกภาษีอย่างทันท่วงที ก็อาจนำไปสู่การปรับลดประมาณการ EPS ในระยะต่อไป

 

แม้ดัชนี S&P 500 จะปรับตัวลดลง 7% ตั้งแต่ต้นปี แต่มูลค่าหุ้น (Valuation) ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ถูกนัก โดยมีค่า P/E (Trailing Twelve Months) ที่ 22.6 เท่า ซึ่งยังสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 21.5 เท่า แม้นโยบายภาษีการค้าจะสามารถเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้อย่างรวดเร็ว แต่ความผันผวนที่เกิดขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ตามมาอาจสร้างแรงกดดันต่อผลประกอบการของภาคธุรกิจในสหรัฐฯ และนำไปสู่การปรับฐานรอบใหม่ของตลาด ในกรณีที่สมมุติฐานการเติบโตของกำไรดัชนี S&P 500 ในปี 2025 ถูกปรับลดลงครึ่งหนึ่งจาก 12% เหลือ 6% และมูลค่าหุ้นถอยกลับสู่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย -1 S.D. (P/E ที่ 17.8 เท่า) ดัชนี S&P 500 อาจเผชิญกับการปรับฐานเพิ่มเติมอีก 16% จากระดับปัจจุบัน

 

ตลาดจับตานโยบายลดภาษีนิติบุคคลของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนกำไรของ S&P 500 เติบโตเพิ่มขึ้นเกือบ 1% นักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการลดความเข้มงวดในการตรวจสอบดีลควบรวมกิจการ (M&A) ภายใต้รัฐบาลใหม่ รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่ลดลงซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อหุ้นกลุ่มขนาดกลาง-เล็ก (Small-Mid-Caps) นอกจากนี้ โครงสร้างรายได้ของบริษัทในดัชนี Russell แสดงให้เห็นว่าบริษัทใน Russell 1000 (ตัวแทนหุ้นขนาดใหญ่) มีรายได้จากต่างประเทศถึง 39% ขณะที่บริษัทใน Russell 2000 (ตัวแทนหุ้นขนาดเล็ก) มีสัดส่วนเพียง 19.9% ทำให้นโยบายภาษีการค้าตอบโต้ (tit-for-tat tariffs) มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อหุ้นขนาดใหญ่มากกว่าหุ้นขนาดเล็กซึ่งยิ่งกระตุ้นความสนใจของนักลงทุนที่ต้องการกระจายพอร์ตไปยังกลุ่ม small caps โดยดัชนี Russell 2000 (หากไม่รวมบริษัทที่ขาดทุน) คาดว่าจะมีการเติบโตของกำไรต่อหุ้นเฉลี่ย 12.5% ต่อปี ในช่วงปี 2024–2026 ปัจจุบันเทรดอยู่ที่ trailing P/E เพียง 16.7 เท่า ซึ่งยังต่ำกว่ากลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (large caps) อย่างมีนัยสำคัญ

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น NIKKEI 225 เผชิญแรงขายต่อเนื่องตามหลังการปรับฐานของหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม อีกทั้ง ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น ยังต้องเผชิญ ภาษีนำเข้าสินค้าสู่สหรัฐฯ สูงถึง 25% ส่งผลให้ดัชนียังคงอยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดในประวัติการณ์ถึง 15% ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นอินเดียก็เผชิญแรงกดดันเช่นกันจากผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2024  ที่ออกมาอ่อนแอในหลายกลุ่ม ระดับ valuations สูงเกินเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่นๆ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รายงานกำไรต่ำกว่าคาดเนื่องจากการบริโภคในชนบทชะลอตัว กลุ่มธนาคารกำลังเผชิญปัญหา คุณภาพสินทรัพย์ที่เริ่มแย่ลง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยประมาณการการเติบโตของกำไรสำหรับดัชนี BSE Sensex ในปี 2025 ถูกปรับลดลงเหลือ 9.6% เมื่อเทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา (2019–2024) ที่ 14.9%

 

หุ้นจีน: ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้น โดยสินค้าจากจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ถูกเรียกเก็บภาษีรวมสูงถึง 145% ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ที่ 125% ซึ่งระดับภาษีเหล่านี้ส่งผลให้การค้าระหว่างสองประเทศแทบไม่สามารถดำเนินการได้ จีนส่งออกสินค้ามูลค่ามหาศาลกว่า 439 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปยังสหรัฐฯ ในปี 2024 คิดเป็น 13.4% ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ซึ่งหากสต็อกสินค้าที่มีอยู่หมดลง จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้บริโภคในสหรัฐฯ ทั้งในรูปแบบของราคาสินค้าที่พุ่งสูง และการขาดแคลนสินค้า โดยมีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯอาจจำเป็นต้องยกเลิกภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ต่อสินค้าจีนในระยะอันใกล้นี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบแง่ลบต่อเศรษฐกิจ ในด้านนโยบายภายใน จีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของสินเชื่อที่อยู่อาศัยลง 50bps การปรับลดเงินดาวน์ขั้นต่ำเหลือเพียง 15% สำหรับบ้านทุกประเภท ธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังเปิดตัวเครื่องมือทางการเงินใหม่ 2 รายการ เพื่อหนุนตลาดทุน โดยรวมถึงโครงการ Swap ขนาด 71 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินของกองทุน ประกัน และบริษัทหลักทรัพย์ในการซื้อหุ้น โดย PBOC ยืนยันจุดยืนว่า จะดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปานกลาง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว

                       

มาตรการที่สองของธนาคารกลางจีน (PBOC) คือการจัดสรรวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสูงสุด 42.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อสนับสนุนการซื้อหุ้นหรือการซื้อหุ้นคืนของหน่วยงานอื่น ๆ นอกจากนี้ จีนได้เปิดตัวโครงการแลกเปลี่ยนหนี้ (Debt Swap) มูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเปิดโอกาสให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถเปลี่ยนหนี้นอกงบประมาณที่มีดอกเบี้ยสูงเป็นพันธบัตรระยะยาว เพื่อลดแรงกดดันทางการเงิน สำหรับด้านการคลัง จีนมีแผนจะดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณในอัตรา 4% ของ GDP ในปี 2025 เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย 3% ในปี 2024 โดยตั้งเป้าอัตราการเติบโตของ GDP ไว้ที่ 5% การเพิ่มเป้าหมายขาดดุลขึ้น 1 จุดเปอร์เซ็นต์ หมายถึงการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นราว 1.3 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 179.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

หลังจากปี 2024 ปิดฉากด้วยผลตอบแทนระดับกลางสองหลัก ซึ่งเป็นการฟื้นตัวในรอบสามปี โดย ดัชนี Hang Seng (HSI) พุ่งขึ้นแล้วกว่า 12% ตั้งแต่ต้นปี แซงหน้าตลาดโลกอย่างชัดเจน ปัจจัยสนับสนุนหลักได้แก่  ผลประกอบการไตรมาส 4 ของกลุ่มเทคโนโลยีแข็งแกร่ง ความคืบหน้าในการพัฒนา AI การประเมินมูลค่าตลาดที่ยังไม่ตึงตัว การเติบโตของกำไรบริษัทเริ่มเร่งตัว และนโยบายการคลังของรัฐยังคงผ่อนคลายและหนุนตลาด แม้จะปรับตัวขึ้นแรงในระยะสั้น ดัชนี HSI ซื้อขายอยู่ที่ P/E ระดับ 11.2 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี และคาดว่า EPS จะเติบโตระดับตัวเลขหลักเดียวในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ดังนั้นจึงยังมี โอกาสให้ผลประกอบการสร้างความประหลาดใจในทางบวกได้อีกมาก สำหรับดัชนี CSI300 ได้รับการปรับประมาณการ EPS เติบโตขึ้นเป็น 19% ในปี 2025 พร้อมด้วยอัตราส่วนราคาต่อการเติบโตของกำไร (PEG ratio) ที่น่าสนใจที่ 0.83 เท่า

 

สินทรัพย์ทางเลือก: การเปลี่ยนนโยบายของ FED สู่ทิศทางผ่อนคลายช่วงต้นปีช่วยหนุนผลตอบแทนของ REITs อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม REITs เผชิญแรงขายอย่างหนักจากการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งปรับตัวขึ้นมากถึง 128 จุดฐานจากระดับต่ำสุดของปี 2024 เนื่องจากตลาดพยายามสะท้อนความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและการขาดดุลงบประมาณสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้น แม้สภาวะตลาดจะผันผวน แต่สินทรัพย์ที่ให้กระแสรายได้สม่ำเสมออย่าง REITs และโครงสร้างพื้นฐานยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันในระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอาจถูกกดดันจากการลดดอกเบี้ยของ FED ที่แม้ล่าช้าแต่ยังคงดำเนินต่อ ในกลยุทธ์การลงทุนแบบเน้นรายได้ (Income Investing) นักลงทุนกำลังมองหาทางเลือกใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารปลอดความเสี่ยง ส่งผลให้สินทรัพย์ที่อ่อนไหวต่อดอกเบี้ยแต่มีรายได้มั่นคงกลายเป็นที่น่าจับตามองมากขึ้น แรงขายรอบล่าสุดจึงอาจถือเป็นจุดเข้าลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการสร้างผลตอบแทนในระยะกลางถึงยาว

 

ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนโยบายภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมถึงความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่อาจกลับมาได้ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนราคาทองคำอีกต่อไป ราคาน้ำมันดิบเผชิญแรงกดดันจากการเติบโตของอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอ ประกอบกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุปทานจากทั้งผู้ผลิตในกลุ่ม OPEC+ และนอกกลุ่ม OPEC+ โดย OPEC+ ได้ยืนยันอีกครั้งถึงแผนการทยอยยกเลิกการปรับลดกำลังการผลิตจำนวน 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2025

 

สำหรับปี 2025 แนวทางการลงทุนควรเน้นไปที่กลยุทธ์ที่ลงทุนในหุ้นคุณภาพที่มีมูลค่าน่าสนใจ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) สินทรัพย์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนที่ได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของความเสี่ยงที่ลดลง เช่น หุ้นขนาดกลาง-เล็ก และหุ้นในตลาดเกิดใหม่ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงอายุต้นของเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) เปิดโอกาสให้ลงทุนเชิงกลยุทธ์ในช่วงที่คาดว่าจะเกิดการชันของเส้นอัตราผลตอบแทน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มลดลงตามการปรับเปลี่ยนของแนวโน้มเศรษฐกิจ เราแนะนำให้นักลงทุนวางกลยุทธ์การลงทุนโดยอิงพอร์ตโฟลิโอแบบผสมผสานระหว่างการจัดสรรสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Asset Allocation - SAA) และการจัดสรรเชิงกลยุทธ์ระยะสั้น (Tactical Asset Allocation - TAA) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนท่ามกลางภาวะความผันผวนของตลาดในทุกสถานการณ์

 

คลิก เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

 

โดย คุณอรุณ ปาวา, IP, FM, IA, ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ที่ปรึกษาทางการเงิน
Investment Strategist ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)