คุณอยู่ที่

  • ทำไมต้อง CIMB Preferred
  • บริการเพื่อความมั่งคั่ง
  • บทความ
  • วิธีการเข้าร่วมเป็น CIMB Preferred
  • บริการช่วยเหลือสำหรับคุณ
  • ลิงค์ด่วน
CIMB Rewards Program
โปรโมชั่นและสิทธิพิเศษสำหรับคุณโดยเฉพาะ
กิจกรรมและสัมมนา
ค้นหาระดับความเสี่ยงในการลงทุนของคุณ
บริการทางการเงินและการลงทุน
2025 Outlook
มุมมองการลงทุนประจำเดือน
กองทุนแนะนำ
กองทุนรวม (Mutual Fund)
มุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนรายไตรมาส
Lifestyle
Structured Debenture
วางแผนทางการเงิน
Weekly Wealth Insights

การขึ้นกำแพงภาษีของทรัมป์ กระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า การเติบโต GDP ของโลกจะมีอัตราการเติบโตคงที่ที่ 3.3% ในปี 2025 และ 2026 ซึ่งไม่แตกต่างการการคาดการณ์ก่อนหน้ามากนัก อย่างไรก็ดี ตัวเลขการเติบโตดังกล่าวยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต (ระหว่างปี 2000-2019) ที่เติบโตเฉลี่ย 3.7%  โดยเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่คาดว่าจะเติบโตที่ 1.9% และ 4.2% ตามลำดับในปี 2025 อีกทั้งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะชะลอตัวลงเหลือ 4.2% ในปี 2025 และ 3.5% ในปี 2026

 

การขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์สมัยที่สองทำให้ความร่วมมือพหุพาคีถูกกดดันอีกครั้ง เนื่องจากอาจส่งผลให้โลกาภิวัตน์ถูกจำกัด นำไปสู่ผลกระทบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น  คาดว่านโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ทั้งในเรื่องความขัดแย้ง, การค้า, ภาษี, การอพยพย้ายถิ่นฐานและอีกหลาย ๆ คาดว่าจะส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดตลอดปี 2025 อย่างไรก็ดี ความผันผวนที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสในการลงทุนที่น่าสนใจในสินทรัพย์ทุกประเภท

 

 

 

หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งสิ้น 100 bps ในปี 2024 ที่ผ่านมา เฟดตัดสินใจที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม FOMC ครั้งล่าสุดในเดือนมีนาคม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและตลาดแรงงานที่มีเสถียรภาพ ทำให้เฟดสามารถชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ โดยไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุมแต่ละครั้งเหมือนที่เราเห็นกันในปี 2024 ทั้งนี้ Dot Plot ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเฟดจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งสิ้น 50 bps สำหรับปี 2025 โดยเฟดคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 1.7% ในปี 2025 และ 1.8% ในปี 2026 ขณะที่ดัชนี Core PCE มีแนวโน้มคงที่ที่ 2.8% ในปี 2025

 

ตลาดมองว่าเฟดจะไม่มีการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมอย่างน้อยไปจนถึงเดือนมิถุนายน ขณะที่เฟดอยู่ในโหมด “wait and see” ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังจะเริ่มดำเนินนโยบายใหม่ที่อาจช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยคาดว่า Core PCE จะลดลงเหลือ 2% ในปี 2027 อย่างไรก็ดี ประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวลล์ ปฏิเสธที่จะยอมรับความเสี่ยงจากนโยบายการคลังจะกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% จนกว่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจน โดยเฟดมองว่า วัฏจักรการผ่อนคลายนโยบายการเงินรอบนี้เป็นการปรับสมดุล (Recalibration) มากกว่าที่จะเป็นการตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิดหรือตลาดแรงงานที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตอย่างแข็งที่ 2.3% ในไตรมาสที่ 4 แต่ต่ำกว่าคาดการณ์ อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของบัตรเครดิตยังคงอยู่เหนือระดับก่อนเกิดโควิดที่ 3.1% แต่ถือเป็นการปรับตัวที่ดีขึ้น เฟดได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า Dual Mandate อยู่ในภาวะสมดุลและจะมุ่งไปที่การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้กลับมาสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเลิกจ้างพนักงานรัฐบาลกลางกว่า 200,000 คน และพนักงานราว 75,000 คนที่ยอมรับข้อเสนอเงินชดเชยเพื่อให้ลาออกจากงานโดยสมัครใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานแรงงานของสหรัฐฯซึ่งอยู่ในภาวะสมดุล โดยรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีการจ้างพนักงาน 2.4 ล้านคน (ไม่รวมไปรษณีย์อเมริกา) ซึ่งคิดเป็น 1.9% ของแรงงานพลเรือนสหรัฐฯทั้งหมด เหตุการณ์นี้อาจเป็นการเลิกจ้างครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ

           

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 25 bps  และได้มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ลงเหลือ 0.9% และ 1.2% สำหรับปี 2025 และ 2026 ตามลำดับ นอกจากนี้ โครงการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (Asset Purchase Program – APP) และโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด (Pandemic Emergency Purchase Programme – PEPP) ของ ECB จะไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมจากหลังจากครบกำหนด คาดว่า ECB จะเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2025 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังเติบโตต่ำ

 

อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 1.7% ในเดือนกันยายนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กลับมาเร่งขึ้นอีกครั้งเป็น 3% ในเดือนมกราคมจากแรงกดดันด้านค่าจ้าง ราคาพลังงาน และราคาอาหาร อย่างไรก็ตาม นายแอนดรูว์ เบลีล์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ส่งสัญญาณถึงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น  โดยปรับอัตราดอกเบี้ยลง 25bps เหลือ 4.5% เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ BOE ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2025 ลงครึ่งหนึ่งจาก  1.5% เหลือ 0.75% และคาดว่า BOE จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยสองครั้งในปี 2025

 

ด้านญี่ปุ่น หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนธันวาคม ก็ได้มีมติ 8 ต่อ 1 เสียงให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 0.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% ตลาดคาดการณ์ว่าในปี 2025 BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 50 bps สำหรับปี 2025 ด้านเศรษฐกิจของจีน สิ้นสุดปี 2024 ด้วยตัวเลขการเติบโตที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ โดย GDP ไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 5.4% ขณะที่อินเดียคาดการณ์ GDP ปี 2024 ลดลงเหลือต่ำกว่า 6.4% จากการหดตัวของการใช้จ่ายของรัฐบาล หลังจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 8.2% ในปี 2023 โดยดัชนี BSE Sensex ลดลง 8% ในช่วหกเดือนที่ผ่านมาจากความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของรายได้และการบริโภค กระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติขายทำกำไรหุ้นอินเดีย

 

หุ้นโลก: ตลาดเริ่มต้นด้วยความคาดหวังในนโยบายที่เน้นการเติบโตของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ในลักษณะเชิงบวก  แต่ความรู้สึกในตลาดกลับแย่ลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการผ่อนคลายนโยบายของเฟดเผชิญกับแรงกดดันจากการขึ้นภาษีและตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังคงสูง ตลาดคาดการณ์ว่า S&P500 จะมีการเติบโตกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่  12-15% ในปี 2025 สิ่งที่น่าสนใจคือ ความแตกต่างของอัตราการเติบโตของกำไรระหว่างหุ้น “Mag-7” และ “หุ้นนอก Mag 7” กำลังแคบลง โดยคาดว่าบริษัท Mag-7 จะรายงานการเติบโตของกำไร 21% ในปี 2025 ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ อีก 493 บริษัทจะรายงานการเติบโตของกำไร 13% ในปี 2025

 

การเติบโตของกำไร 13% สำหรับปี 2025 สะท้อนถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับคาดการณ์การเติบโตในปี 2024 ที่ 4% โดยอัตรากำไรสุทธิของดัชนี S&P500 คาดว่าจะขยายตัวเป็น 13% ซึ่งสูงที่สุดในรอบอย่างน้อย 10 ปี ทั้งนี้ ดัชนี S&P500 สร้างผลตอบแทนรวม 25% ในปี 2024 โดยหุ้นกลุ่ม Mag-7 คิดเป็นสัดส่วนที่ 53.7% ของผลตอบแทนทั้งหมด

 

การประเมินมูลค่าของ S&P500 ยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราส่วน P/E ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 24.6 เท่า ซึ่งสูงกว่าทั้งค่าเฉลี่ย 10 ปี 21.6 เท่า ตลาดกำลังรอนโยบายการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลของประธานาธิบดีทรัมป์ นโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้กำไรของ S&P500 เพิ่มขึ้นไม่ถึง 1% โดยความเสี่ยงด้านลบที่อาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนหุ้นโลกในปี 2025 ได้แก่ นโยบายภาษีการค้าที่กำลังจะเกิดขึ้น การกระจุกตัวของหุ้นไม่กี่ตัวในดัชนีต่าง ๆ และ Valuation ที่ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้นักลงทุนต้องกระจายความเสี่ยงออกจากหุ้นที่มีคาดการณ์การเติบโตจนเกือบจะสมบูรณ์แบบจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่กำลังเพิ่มขึ้น

 

แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินอย่างระมัดระวังมากขึ้น แต่ความสนใจในการลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก (small caps) กลับมีการปรับตัวดีขึ้นจากการตรวจสอบการควบรวมกิจการ (M&A) ที่เข้มงวดน้อยลงภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ รวมไปถึงต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ทั้งสองปัจจัยส่งผลบวกต่อบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ยิ่งไปกว่านั้น รายได้จากต่างประเทศซึ่งคิดเป็น 39% ของหุ้นในดัชนี Russell 1000 (ดัชนีหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐฯ) และ 19.9% สำหรับ Russell 2000 (ดัชนีหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯ) ดังนั้น การตอบโต้กันผ่านภาษีการค้าจะมีผลกระทบด้านลบต่อหุ้นขนาดใหญ่มากกว่าหุ้นขนาดเล็ก ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้หุ้นขนาดเล็กมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ตลาดคาดว่าหุ้นในดัชนี Russell 2000 จะมีกำไรเติบโต 33% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2024-2026 ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่เป็นอย่างมาก

 

ดัชนี NIKKEI 225 เผชิญแรงขายหลังจากการปรับฐานในหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม โดยดัชนียังคงต่ำกว่าระดับ All-time High ถึง 9%  ขณะที่ด้านอินเดียการปรับลงล่าสุดของตลาดหุ้นส่วนใหญ่เกิดจาการผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2024 ที่อ่อนแอในภาคส่วนที่สำคัญ​ ประกอบกับการประเมินมูลค่าที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดเกิดใหม่ ด้านบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ชะลอตัวในพื้นที่ชนบทรายงานกำไรต่ำกว่าประมาณการ ส่วนธนาคารในอินเดียก็กำลังเผชิญกับคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมลง ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวล อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2024 อาจฟื้นตัวขึ้นจากการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล

 

หุ้นจีน: จีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดโควิดเพื่อต่อสู้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและภาวะเงินฝืด โดยมาตรการสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ล่าสุดรวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยลง 50 bps การลดข้อกำหนดการชำระเงินดาวน์ขั้นต่ำเหลือ 15% พร้อมทั้งมาตรการอื่น ๆ นอกจากนี้ ธนาคารกลางประชาชนจีน (PBOC) ยังออกมาตรการกระตุ้นตลาดทุน มาตรการแรกคือโปรแกรม Swap มูลค่า 71,000 ล้านเหรียญที่จะช่วยให้กองทุน บริษัทประกัน และนายหน้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อซื้อหุ้นได้ง่ายขึ้น  PBOC ได้กล่าวเน้นย้ำความความจำเป็นในการสนับสนุนนโยบายทางการเงินว่า “จะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายในระดับปานกลาง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินที่ดี เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”

 

นอกจากนี้ มาตรการที่สอง คือ PBOC ให้เงินกู้แก่ธนาคารพาณิชย์มูลค่า 42,500 ล้านเหรียญในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกเพื่อช่วยให้ธนาคารสามารถระดมทุน เพื่อช่วยเป็นแหล่งเงินทุนให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ในการซื้อหุ้นและซื้อหุ้นคืน จีนยังได้เริ่มใช้มาตรการ Debt Swap มูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถแลกเปลี่ยนหนี้นอกระบบซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นพันธบัตรระยะยาวได้ จีนเตรียมที่จะใช้การขาดดุลงบประมาณ 4% ของ GDP ในปี 2025 นี้เพื่อพยุงการบริโภคซึ่งมากกว่าเป้าหมาย 3% ในปี 2024 โดยตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ที่ 5% ในปี 2025 การขาดดุลที่เพิ่มขึ้น 1% ของ GDP หมายความว่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 ล้านล้านหยวน (179,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

 

หลังจากปิดปี 2024 ด้วยผลตอบแทนระดับกลางและถือเป็นการพลิกกลับครั้งแรกของหุ้นจีนในรอบ 3 ปี ดัชนี้ Hang Seng (HSI) พุ่งขึ้น 22% นับตั้งแต่ต้นปีซึ่งถือว่าเหนือกว่าตลาดในหลาย ๆ ประเทศ เนื่องจากผลกำไรไตรมาสที่ 4 ที่ออกมาล่าสุดของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและความก้าวหน้าในการพัฒนา AI ทั้งจากความคาดหวังของตลาดที่ต่ำ ประกอบกับ Valuation ที่น่าสนใจ การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นและการสนับสนุนทางการคลังอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนผลตอบแทนของตลาด หลังจากการปรับเพิ่มขึ้นครั้งล่าสุดปัจจุบันดัชนี HSI ซื้อขายในระดับ P/E  12.2 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี โดยคาดการณ์การเติบโตของกำไรของ HSI จะอยู่ที่ระดับ early-single digits เท่านั้นในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้า จึงยังมีพื้นที่อีกมากให้ EPS ถูกประมาณการณ์ขึ้น ในขณะที่การเติบโต EPS ของ CSI 300 ถูกปรับขึ้นเป็น 15% ทั้งนี้ จีนกำลังรอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่เพื่อปรับสมดุลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

 

สินทรัพย์ทางเลือก: การเปลี่ยนแปลงนโยบายของ FED ส่งผลให้ REITs ให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม REITs เผชิญกับแรงขายอย่างหนักหลังจากผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ปรับเพิ่มขึ้น 128bps จากจุดต่ำสุดของปี 2024  จากการคาดการณ์ถึงการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯและอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูง อย่างไรก็ตาม REITs และสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานยังคงได้รับประโยชน์จากการจัดสรรเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากคาดว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายเฟดที่ล่าช้า ในมุมของกลยุทธ์การลงทุน นักลงทุนกำลังมองหาสินทรัพย์ที่สร้างรายได้เหนือกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ต้องการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสินทรัพย์ที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยและมีกระแสเงินสดที่มั่นคง โดยการเทขายที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ถือเป็นจุดซื้อที่ดีสำหรับนักลงทุน

 

สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-ฮามาสซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกรวมไปถึงอุปทานพลังงานอาจถูกยุติลงอย่างกะทันหันภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับกระทบจากภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นยังเป็นปัจจัยให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น ด้านราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากความต้องการที่ลดลง ขณะเดียวกันอุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจาก OPEC+ และผู้ผลิตอื่น ๆ โดยทาง OPEC+ ยืนยันมาตรการการลดการผลิตลง 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2025

 

หุ้นยังคงเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจและมีโอกาสในการลงทุนมากมายทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2025 นักลงทุนควรให้น้ำหนักการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม REITs สินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐาน และสินทรัพย์ที่จะได้รับประโยชน์จาก Risk Premiums ที่ต่ำ เช่นหุ้นขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงหุ้นตลาดเกิดใหม่ ส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯระยะสั้นเป็นโอกาสการลงทุนเนื่องจาก Yield ที่จะลดลงจากการที่เฟดเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงิน  โดยเราแนะนำให้นักลงทุนจัดพอร์ตการลงทุนที่ผสมผสานกลยุทธ์ทั้ง Strategic Asset Allocation (SAA) และ Tactical Asset Allocation (TAA) เพื่อรับมือกับความผันผวนและโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีที่สุดในทุกสถานการณ์

 

คลิก เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

 

โดย คุณอรุณ ปาวา, IP, FM, IA, ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ที่ปรึกษาทางการเงิน
Investment Strategist ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)