การขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์สมัยที่สองทำให้ความร่วมมือพหุพาคีถูกกดดันอีกครั้ง เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดการหดตัวของโลกาภิวัตน์จากผลกระทบห่วงโซ่อุปทานและส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก คาดว่านโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ทั้งในเรื่องความขัดแย้ง, การค้า, ภาษี, การอพยพย้ายถิ่นฐานและอีกหลายๆ ส่วนจะส่งผลให้เกิดความผันผวนตลอดปี 2025 อย่างไรก็ดี ความผันผวนที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสในการลงทุนที่น่าสนใจในสินทรัพย์ทุกประเภท
หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งสิ้น 100 bps ในปี 2024 ที่ผ่านมา เฟดตัดสินใจที่จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุม FOMC ครั้งล่าสุดในเดือนมกราคม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและตลาดแรงงานที่มั่นคงทำให้เฟดสามารถชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ โดยจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุมแต่ละครั้งอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2024 ทั้งนี้ Dot Plot ล่าสุดของเฟดชี้ให้เห็นว่าเฟดจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งสิ้น 50-75 bps สำหรับปี 2025 โดยเฟดคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 2.5% ในปี 2024 และ 2.1% ในปี 2025 ขณะที่ดัชนี Core PCE มีแนวโน้มจะขยายตัวที่ 2.8% และ 2.5% ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ ดัชนีผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) เดือนมกราคมปรับเพิ่มขึ้น 3% และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ปรับเพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยราคาอาหารและประกันภัยเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันการเพิ่มขึ้นดังกล่าว ด้านราคาที่อยู่อาศัยไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากแต่ยังคงสูงกว่า 2%
ตลาดมองว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อยไปจนถึงเดือนมิถุนายน ขณะที่เฟดอยู่ในช่วง “wait and see” เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์กำลังดำเนินนโยบายใหม่ที่อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่า Core PCE จะลดลงเหลือ 2% ในปี 2026 อย่างไรก็ตามประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวลล์ ปฏิเสธที่จะตระหนักถึงความเสี่ยงจากนโยบายการคลังจะกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% จนกว่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจน โดยเฟดมองว่า วัฏจักรการผ่อนคลายนโยบายการเงินรอบนี้เป็นการปรับสมดุล (Recalibration) มากกว่าที่จะเป็นการตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิดหรือตลาดแรงงานที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตรา 2.3% ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ การผิดนัดชำระหนี้ของบัตรเครดิตแม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงอยู่เหนือระดับก่อนเกิดโควิดที่ 3.1% เฟดได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าขณะนี้ Dual Mandate อยู่ในภาวะสมดุลและจะมุ่งไปที่การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้กลับมาสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่มีความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะใกล้นี้ การเลิกจ้างพนักงานรัฐบาลกลางกว่า 200,000 คน และพนักงานราว 75,000 คนที่ยอมรับข้อเสนอเงินชดเชยเพื่อให้ลาออกจากงานโดยสมัครใจ ทำให้ตลาดแรงงานของสหรัฐฯอยู่ในภาวะสมดุล โดยรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีการจ้างพนักงาน 2.4 ล้านคน (ไม่รวมไปรษณีย์อเมริกา) ซึ่งคิดเป็น 1.9% ของแรงงานพลเรือนสหรัฐฯทั้งหมด สิ่งนี้ถือเป็นการเลิกจ้างครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ
หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งสุดท้ายของปี 2024 จำนวน 25 bps ก็ยังคงมีการผ่อนคลายนโยบายต่อไปโดยมีการปรับลดทั้งสามอัตราดอกเบี้ยลงอีก 25 bps ในช่วงปลายเดือนมกราคม . ECB ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ลงเหลือ 0.8% และ 1.3% และคาดการณ์เงินเฟ้อโต 2.5% และ 2.2% ในปี 2024 และ ปี 2025 ตามลำดับ ทั้งนี้ โครงการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (Asset Purchase Program – APP) และโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด (Pandemic Emergency Purchase Programme – PEPP) ของ ECB จะไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม และคาดว่า ECB จะเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2025 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังเติบโตต่ำ
อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 1.7% ในเดือนกันยายนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กลับมาเร่งขึ้นอีกครั้งเป็น 3% ในเดือนมกราคมซึ่งได้แรงหนุนจากแรงกดดันด้านค่าจ้าง ราคาพลังงาน และราคาอาหาร อย่างไรก็ตามนายแอนดรูว์ เบลีล์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ส่งสัญญาณถึงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยปรับอัตราดอกเบี้ยลง 25bps เหลือ 4.5% เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ BOE ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2025 ลงครึ่งหนึ่งจาก 1.5% เป็น 0.75% คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษคาดการณ์ว่าดัชนี CPI ปี 2025 จะอยู่ที่ราว 2.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ในเดือนสิงหาคมที่ 2.2% ทั้งนี้คาดว่า BOE จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยสามครั้งในปี 2025
ด้านญี่ปุ่น หลังจากที่ BOJ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนธันวาคม ได้มีมติ 8 - 1 เสียงให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 0.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% ตลาดคาด BOJ ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสูงสุดในรอบวัฏจักรที่ 50 bps สำหรับปี 2025 ด้านเศรษฐกิจของจีนปิดปี 2024 ด้วยตัวเลขที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด โดย GDP ไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 5.4% ขณะที่ด้านอินเดียคาดการณ์ GDP ปี 2024 ลดลงเหลือต่ำกว่า 6.4% จากการหดตัวของการใช้จ่ายของรัฐบาล หลังจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 8.2% ในปี 2023 โดยดัชนี BSE Sensex ลดลง 13% ในช่วงห้าเดือนที่ผ่านมาจากความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของรายได้และการบริโภคกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติขายทำกำไรหุ้นอินเดีย
หุ้นโลก: ในช่วงแรก ตลาดต้อนรับนโยบายที่เน้นการเติบโตของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ในลักษณะเชิงบวก แต่หลังจากนั้นไม่นาน การผ่อนคลายนโยบายของเฟดก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการขึ้นภาษีและตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังไม่แน่นอน ตลาดคาดว่ากำไรต่อหุ้นบริษัทในดัชนี S&P 500 จะเติบโต 12-15% ในปี 2025 สิ่งที่น่าสนใจคือ ความแตกต่างของอัตราการเติบโตของรายได้ระหว่างหุ้น “Mag-7” และ “หุ้นนอก Mag 7” กำลังลดลง โดยคาดว่าบริษัท Mag-7 จะรายงานการเติบโตของกำไร 21% ในปี 2025 ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ อีก 493 บริษัทจะรายงานการเติบโตของกำไร 13% ในปี 2025
การเติบโตของกำไร 13% ในปี 2025 นี้สะท้อนถึงการเติบโตอย่างมากเมื่อเทียบกับคาดการณ์การเติบโตในปี 2024 ที่ 4% โดยอัตรากำไรสุทธิของดัชนี S&P500 คาดว่าจะขยายตัวเป็น 13% ซึ่งสูงที่สุดในรอบอย่างน้อย 10 ปี ทั้งนี้ ดัชนี S&P500 สร้างผลตอบแทนรวม 25% ในปี 2024 โดยหุ้นกลุ่ม Mag-7 คิดเป็นสัดส่วนที่ 53.7%
Valuation ของ S&P500 ยังอยู่ในระดับสูงโดยอัตราส่วน P/E ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 24.8 เท่า ซึ่งสูงกว่าทั้งค่าเฉลี่ย 10 ปี 21.6 เท่า ตลาดกำลังรอนโยบายการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลของประธานาธิบดีทรัมป์ นโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้กำไรของ S&P500 เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 1% โดยความเสี่ยงด้านลบที่กระทบต่อผลตอบแทนหุ้นโลกในปี 2025 ประกอบด้วยนโยบายภาษีการค้าที่กำลังจะเกิดขึ้น การกระจุกตัวของหุ้นไม่กี่ตัวในดัชนีต่างๆ และ Valuation ที่ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงออกจากบริษัทที่มีคาดการณ์การเติบโตจนเกือบจะสมบูรณ์แบบ
แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินช้าลงขึ้น นักลงทุนยังมองว่าหุ้นขนาดเล็กมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นและรู้สึกตื่นเต้นกับการตรวจสอบการควบรวมกิจการ (M&A) ที่จะเข้มงวดน้อยลงภายใต้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ รวมไปถึงต้นทุนทางการเงินที่ลดลงซึ่งล้วนเป็นปัจจัยบวกสำหรับบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ยิ่งไปกว่านั้น รายได้จากต่างประเทศคิดเป็น 39% ของหุ้นในดัชนี Russell 1000 (ดัชนีหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐฯ) และ 19.9% สำหรับ Russell 2000 (ดัชนีหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯ) ดังนั้นการตอบโต้กันผ่านภาษีการค้าจะส่งผลกระทบด้านลบต่อหุ้นขนาดใหญ่มากกว่าหุ้นขนาดเล็ก ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้หุ้นขนาดเล็กมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ตลาดคาดว่าหุ้นในดัชนี Russell 2000 จะมีกำไรเติบโต 33% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2024-2026 ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่เป็นอย่างมาก
ดัชนี NIKKEI 225 เผชิญแรงกดดันหลังจากเกิดการเทขายหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม โดยดัชนียังคงต่ำกว่าระดับ All-time High ถึง 7% ขณะที่ด้านอินเดียการปรับลงล่าสุดของตลาดหุ้นส่วนใหญ่เกิดจาการผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2024 ที่อ่อนแอในภาคส่วนที่สำคัญ ประกอบกับการประเมินมูลค่าที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดเกิดใหม่ ด้านบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ชะลอตัวในพื้นที่ชนบทรายงานกำไรต่ำกว่าประมาณการและด้านธนาคารต้องรับมือกับคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมลง ทั้งสองประเด็นดังกล่าวส่งผลต่อความกังวลต่อนักลงทุน
หุ้นจีน: จีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดโควิดเพื่อต่อสู้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและภาวะเงินฝืด โดยมาตรการสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ล่าสุด ได้แก่การลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยลง 50 bps การลดข้อกำหนดการชำระเงินดาวน์ขั้นต่ำเหลือ 15% รวมไปถึงมาตรการอื่น ๆ นอกจากนี้ ธนาคารกลางประชาชนจีน (PBOC) ยังออกมาตรการกระตุ้นตลาดทุน มาตรการแรกคือโปรแกรม Swap มูลค่า 71,000 ล้านเหรียญที่จะช่วยให้กองทุน บริษัทประกัน และนายหน้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อซื้อหุ้นได้ง่ายขึ้น PBOC ได้กล่าวเน้นย้ำความความจำเป็นในการสนับสนุนนโยบายทางการเงินว่า “จะดำเนินนโยายการเงินผ่อนคลายในระดับปานกลาง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินที่ดี เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” และมาตรการที่สอง คือ PBOC ให้เงินกู้แก่ธนาคารพาณิชย์มูลค่า 42,500 ล้านเหรียญในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกเพื่อช่วยให้ธนาคารสามารถระดมทุน เพื่อช่วยเป็นแหล่งเงินทุนให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ในการซื้อหุ้นและซื้อหุ้นคืน จีนได้เริ่มใช้มาตรการ Debt Swap มูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถแลกเปลี่ยนหนี้นอกระบบซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นพันธบัตรระยะยาวได้ จีนตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณ 4% ของ GDP ในปี 2025 นี้เพื่อพยุงการบริโภคซึ่งมากกว่าเป้าหมาย 3% ในปี 2024 โดยตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ที่ 5% ในปี 2025 การขาดดุลที่เพิ่มขึ้น 1% ของ GDP หมายความว่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 ล้านล้านหยวน (179,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
หลังจากปิดปี 2024 ด้วยผลตอบแทน 12.5% ซึ่งถือเป็นการพลิกกลับครั้งแรกของหุ้นจีนในรอบ 3 ปี ดัชนี้ Hang Seng (HSI) พุ่งขึ้น 18.3% นับตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากผลกำไรไตรมาสที่ 4 ที่ออกมาล่าสุดของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและความคืบหน้าในการพัฒนา AI ความคาดหวังของตลาดที่ต่ำ Valuation ที่น่าสนใจ การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นและการสนับสนุนทางการคลังอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนผลตอบแทนของตลาด หลังจากการปรับเพิ่มขึ้นครั้งล่าสุดปัจจุบันดัชนี HSI ซื้อขายในระดับ P/E 10.6 เท่าซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี โดยคาดการณ์การเติบโตกำไรต่อหุ้นของดัชนี HSI จะอยู่ที่ระดับ mid-single digits ในปี 2025 ในขณะที่ CSI 300 ถูกปรับขึ้นเป็น 14% ทั้งนี้ จีนกำลังรอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่เพื่อปรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต
สินทรัพย์ทางเลือก: การเปลี่ยนแปลงนโยบายของ FED ส่งผลให้ REITs ให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม REITs เผชิญกับแรงขายอย่างหนักหน่วงจากผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ปรับเพิ่มขึ้น 128bps จากจุดต่ำสุดของปี 2024 จากการคาดขาดดุลการคลังของสหรัฐฯและอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ได้ปรับลงเร็วมากนัก REITs และสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานยังคงได้รับประโยชน์จากการจัดสรรเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากคาดว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายเฟด ในมุมของกลยุทธ์การลงทุนนักลงทุนมองหาสินทรัพย์ที่สร้างรายได้นอกเหนือจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ต้องการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสินทรัพย์ที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยและมีกระแสเงินสดที่มั่นคง โดยการเทขายที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ถือเป็นจุดซื้อที่ดีสำหรับนักลงทุน
สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-ฮามาสซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกรวมไปถึงอุปทานพลังงานอาจถูกยุติลงอย่างกะทันหันภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับกระทบจากภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีทรัมป์และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นยังเป็นปัจจัยให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น ด้านราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากการอุปสงค์ที่ลดลงขณะเดียวกันอุปทานเพิ่มสูงขึ้น นอกจานี้ ตลาดคาดว่าจะมีกิจกรรมขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นในอนาคตเนื่องจากกฎระเบียบที่ผ่อนคลายลง
หุ้นยังคงเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจและมีโอกาสในการลงทุนมากมายทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2025 นักลงทุนควรให้น้ำหนักการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม REITs สินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐาน และสินทรัพย์ที่จะได้รับประโยชน์จาก Risk Premiums ที่ต่ำลง เช่นหุ้นขนาดเล็กและหุ้นตลาดเกิดใหม่ มองตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐระยะสั้นเป็นโอกาสการลงทุน เนื่องจาก Yield จะยังคงเคลื่อนตัวต่ำลงต่อไป จากการที่เฟดเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อ โดยเราแนะนำให้นักลงทุนจัดพอร์ตการลงทุนที่ผสมผสานกลยุทธ์ทั้ง Strategic Asset Allocation (SAA) และ Tactical Asset Allocation (TAA) เพื่อรับมือกับความผันผวนและโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีที่สุดในทุกสถานการณ์
คลิก เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม