คุณอยู่ที่

  • บทความ
  • ผลิตภัณฑ์ธนาคาร
  • ช่องทางบริการธนาคาร
  • เกี่ยวกับเรา
  • บริการช่วยเหลือ
  • ลิงก์ด่วน
ผลิตภัณฑ์ธนาคาร
เกี่ยวกับเรา
Financial Guru
Business Maker
Lifestyle Tips
ลงทุน
บริการโอนเงินระหว่างประเทศ
CIMB THAI App
ข่าวและกิจกรรม

 

     ถึงช่วงต้นปีทีไร สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นหน้าที่หลักของบรรดามนุษย์เงินเดือน นั่นก็คือ การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับใครก็ตามที่เพิ่งยื่นเป็นครั้งแรก วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ ที่จะมาบอกว่า ทำไมเราต้องเสียภาษี แล้วเงินเดือนเท่านี้ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ แล้วสามารถยื่นภาษีย้อนหลังได้หรือไม่ บทความนี้มีคำตอบ

 

     ใครก็ตามที่เพิ่งยื่นเป็นครั้งแรก จะขออธิบายสั้น ๆ สักหน่อยก็แล้วกัน ถ้าพูดถึงคำว่า ภาษี ที่หมายถึง เงินที่เก็บจากประชาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐบาลสามารถนำเงินมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งอัตราภาษีที่ต้องชำระก็จะแตกต่างกันออกไปตามจำนวนของรายได้ โดยทั่วไปภาษีมีหลายรูปแบบ แต่ที่น่าจะใกล้ตัวเรามากที่สุด นั่นก็คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือผู้ที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพ นั่นก็คือ จากเงินเดือน ค่าจ้าง และมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีนั่นเอง

 

 

เงินเดือนเท่าไหร่เสียภาษี

     เป็นคำถามยอดฮิตของเหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหน้าเก่า และบรรดา First Jobber ว่าเงินเดือนเราเท่านี้ ต้องเสียภาษีไหม เสียเท่าไหร่ เนื่องจากแต่ละบุคคลต่างก็มีรายได้ที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็มีรายได้แค่เฉพาะเงินเดือนอย่างเดียว บ้างก็มีรายได้หลายทาง เพราะฉะนั้นรายรับที่แต่ละคนได้ต่อเดือน จะเป็นตัวกำหนดการคำนวณภาษี โดยมีสูตรการคำนวณคร่าว ๆ ก็คือ "รายได้ตลอดทั้งปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน จะออกมาเป็น รายได้สุทธิ"

 

     ซึ่งรายได้ตลอดทั้งปีจะมาจากเงินเดือนในแต่ละเดือนที่นายจ้างมีการจ่ายเป็นค่าจ้าง ลบด้วยค่าใช้จ่ายของรายได้จากงานประจำ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ลบด้วยลดหย่อนส่วนตัว คนละ 60,000 บาท ซึ่งเราสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้จาก ค่าลดหย่อนส่วนตัว หรือจะเป็น การลงทุนในกองทุนรวม การซื้อประกันชีวิต แคมเปญจากภาครัฐ เช่น ช็อปดีมีคืน เป็นต้นจะได้เป็น เงินได้สุทธิ โดยผู้ที่มีรายได้สุทธิคำนวณทั้งปีไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี และถ้าหากรวมแล้วเกิน 150,000 บาท จะต้องเสียภาษีอัตราตามขั้นบันได 5 - 35%

 

     สำหรับใครที่มีรายได้จากงานประจำเพียงทางเดียว คนที่มีฐานเงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี ส่วนผู้ที่มีเงินเดือนไม่เกิน 26,583 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าหากเงินเดือนเกิน 26,583 บาทเป็นต้นไปนอกจากจะต้องยื่นภาษีแล้วต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งอัตราภาษีจะแบ่งตามช่วงรายได้ดังนี้

 

 

รายได้สุทธิ (บาท) อัตราภาษี
ไม่เกิน 150,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี
ตั้งแต่ 150,001 บาท - 300,000 บาท 5%
ตั้งแต่ 300,001 บาท - 500,000 บาท 10%
ตั้งแต่ 500,001 บาท - 750,000 บาท 15%
ตั้งแต่ 750,001 บาท - 1,000,000 บาท 20%
ตั้งแต่ 1,000,001 บาท - 2,000,000 บาท 25%
ตั้งแต่ 2,000,001 บาท - 5,000,000 บาท 30%
ตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไป 35%

 

วางแผนลดหย่อนภาษีอย่างไรดีให้มีเงินใช้

     ย้ำอีกทีว่า การยื่นภาษี เป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีรายได้ แม้รายได้สุทธิประจำปีจะยังไม่เกณฑ์ก็ตาม และเพื่อสิทธิประโยชน์ของตัวเราเอง การลดหย่อนภาษี ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยดี ๆ ที่นอกจากจะช่วยให้เราได้รับเงินคืนในแต่ละปีแล้ว ยังจะช่วยให้เราวางแผนการเงินได้อย่างมั่นคงในทุก ๆ ปี อีกด้วยนะ โดยเราสามารถวางแผนลดหย่อนภาษีได้จาก 4 หมวด ดังต่อไปนี้

 

หมวดส่วนตัวและครอบครัว

     ในหมวดนี้สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท แบ่งเป็น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ซึ่งเป็นค่าลดหย่อนภาษีที่เกิดจากตัวเองและคนในครอบครัว ค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าลดหย่อนบุตร ค่าฝากครรภ์และทำคลอด เป็นต้น

 

หมวดประกันและการลงทุน

  • ประกันชีวิต เฉพาะกรมธรรม์ที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • SSF (Super Saving Funds) สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
  • RMF (Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

 

หมวดเงินบริจาค

  • เงินบริจาคทั่วไป สามารถวางแผนลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา เงินบริจาคภาครัฐ โรงพยาบาล สามารถวางแผนลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่เราบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน 

 

หมวดกระตุ้นเศรษฐกิจ

     ในแต่ละปี ภาครัฐจะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างล่าสุดก็คือโครงการ ช้อปดีมีคืน ที่นอกจากจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายแล้วเรายังสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 40,000 บาท เป็นต้น

 

 

 

ยื่นภาษีย้อนหลังได้หรือไม่ สรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้กี่ปี?

     เมื่อถึงฤดูกาลการยื่นภาษี ช่วงนั้นจะวุ่นวายนิดหน่อยในการรวบรวมเอกสารต่าง ๆ แม้เราจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์การเสียภาษี แต่ก็ควรยื่นภาษีอย่างถูกต้องทุกปี เพื่อป้องกันปัญหาการโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง และถ้าเกิดยื่นภาษีล่าช้า หรือบังเอิญลืม ก็สามารถยื่นภาษีย้อนหลังได้ แต่ถ้าหากมีเจตนาละเลย หรือจงใจหนีภาษี ระวังจะมีบทลงโทษ รวมถึงค่าปรับต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

 

     กรณีไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 บาท พร้อมเสียเบี้ยปรับ ไม่เกิน 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย และ เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่ายนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ

 

     กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเพื่อเลี่ยงภาษี มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 5,000 บาท จำคุกสูงสุด 6 เดือน พร้อมเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย และ เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่ายนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ

 

     กรณีหนีภาษี มีโทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000 - 200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี พร้อมเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย และ เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่ายนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ

 

     และเพื่อไม่ให้โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง อย่าลืมติดตามข่าวสารการยื่นภาษีได้ทางกรมสรรพากรกันด้วยนะ เพราะแต่ละปีก็จะมีเงื่อนไข หรือกฎหมายใหม่ ๆ อัปเดตให้ทราบ เพื่อที่เราจะได้ไม่ตกข่าว ยื่นภาษีครบ จบในครั้งเดียว  

 

     และนี่ก็คือเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเสียภาษี เพื่อเป็นข้อมูลในการคิดคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายคร่าว ๆ ตามฐานเงินเดือนของแต่ละคนซึ่งแหล่งที่มาของรายได้ต่างกัน จำนวนค่าลดหย่อนก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากถึงฤดูกาลยื่นภาษีอย่าลืมนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับใช้กันได้เลย